xs
xsm
sm
md
lg

กบฏ “ฟาร์ก” ประกาศเลิกจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ หลังคนโคลอมเบียลุกฮือต่อต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ชาวโคลอมเบียได้ชุมนุมต่อต้านกองกำลังปฏิวัติติดอาวุธโคลอมเบีย (ฟาร์ก) จากกรณีการสังหารตัวประกันทิ้ง ระหว่างถูกกองกำลังรัฐบาลบุกทลายรัง และวานนี้ (26) ฟาร์กประกาศจะไม่มีจับตัวประกันเรียกค่าไถ่อีกต่อไป
เอเอฟพี - กองกำลังปฏิวัติติดอาวุธโคลอมเบีย (ฟาร์ก) ประกาศคำมั่นในวันอาทิตย์ (26) ว่า จะหยุดการจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ พร้อมทั้งจะปล่อยตัวนักโทษสงคราม 10 คน ที่ถูกคุมขังให้เป็นอิสระ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกองกำลังกบฏกลุ่มสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในละตินอเมริกา

สามเดือนก่อนหน้าประกาศฉบับนี้ ชาวโคลอมเบียทั่วประเทศได้ลุกฮือขึ้นชุมนุมต่อต้านกลุ่มกบฏฟาร์ก กรณีที่ประหารชีวิตตัวประกันทิ้ง หลังจากกองกำลังรัฐบาลบุกโจมตีฐานที่มั่น หวังเข้าช่วยเหลือตัวประกัน

“เรายอมรับมาตลอดเกี่ยวกับการจับพลเรือนเป็นตัวประกัน ทั้งหญิงและชาย ซึ่งพวกเรา ฟาร์ก ได้ปฏิบัติการเพื่อหาเงินสนับสนุนการปฏิวัติ” คำแถลงของฟาร์กบนเว็บไซต์ www.farc-ep.co ระบุ “เราขอประกาศว่า จากวันนี้ไป การจับตัวประกันเรียกค่าไถ่จะไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการเพื่อการปฏิวัติอีกต่อไป”

ฟาร์ก เอ่ยถึงการปล่อยตัวประกันว่า “นอกเหนือจากนักโทษสงครามที่เราเคยประกาศจะปล่อยตัว 6 คนแล้ว เราจะปล่อยตัวนักโทษสงครามที่อยู่ในการควบคุมเพิ่มอีก 4 คน” อนึ่ง นักโทษสงครามในความหมายของฟาร์ก คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ถูกจับเป็นตัวประกัน เพื่อเอาไว้ต่อรองกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ฟาร์กไม่ได้ระบุชัดเจนถึงชะตากรรมของตัวประกันที่เป็นพลเรือนอีกหลายร้อยคน

ส่วนเรื่องการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล คำแถลงของฟาร์กลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ระบุว่า ยังมีอุปสรรคสำคัญในการสรุปข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล แต่ฟาร์กไม่ได้เปิดเผยว่า อุปสรรคดังกล่าวคืออะไร

ประธานาธิบดี ฮวน มานูเอล ซานโตส แห่งโคลอมเบีย โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ว่า รัฐบาลยินดีที่ฟาร์กประกาศยุติการลักพาตัว นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่สันติภาพ แต่ย้ำว่าแค่นั้นยังไม่เพียงพอ ในขณะที่ฟาร์กยังไม่ระบุวันเวลาที่จะปล่อยตัวประกันออกมา

ทั้งนี้ แรงกดดันต่อกลุ่มกบฏฟาร์กทวีความรุนแรงขึ้น หลังฟาร์กประหารชีวิตตำรวจและทหาร 3 นาย ที่ถูกจับเป็นตัวประกันมานานกว่า 12 ปี ลงในวันที่ 26 พฤศจิกายน เมื่อฐานที่มั่นของกลุ่มฟาร์กถูกทหารรัฐบาลบุกจู่โจม การเสียชีวิตของตัวประกันทั้งสามปลุกให้ชาวโคลอมเบียลุกขึ้นมาต่อต้านกบฏมาร์กซิสต์กลุ่มนี้

ฟาร์กทำสงครามกับรัฐบาลโคลอมเบียมาตั้งแต่ปี 1964 ด้วยกองกำลังที่เชื่อกันว่ามีราวๆ 8,000 คน ฟาร์กเริ่มใช้วิธีการลักพาตัวช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 โดยเริ่มจากการจับตัวนายทหาร เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองแลกตัวกับสมาชิกฟาร์กที่ถูกทางการจับกุม ก่อนเริ่มมีการจับตัวพลเรือนและนักการเมืองแถวหน้าเพื่อเรียกค่าไถ่ ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990
กำลังโหลดความคิดเห็น