เอเอฟพี/บีบีซี - นายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ประกาศให้การสนับสนุน โยอาคิม เกาค์ อดีตนักเคลื่อนไหวชาวเยอรมนีตะวันออกซึ่งมีพรรคฝ่ายค้านหนุนหลัง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ หลังคริสเตียน วูลฟฟ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งจากข้อครหาเกี่ยวกับคดีคอร์รัปชัน
แมร์เคิลชื่นชมโยอาคิม เกาค์ ศาสนาจารย์โปรเตสแตนต์วัย 72 ปี ว่าเป็น “ครูสอนประชาธิปไตยตัวจริง” ซึ่งช่วยสร้างความสมานฉันท์ ตั้งแต่การรวมประเทศเยอรมนีเมื่อปี 1990
“บุรุษผู้นี้สามารถสร้างแรงกระตุ้นที่สำคัญสำหรับยุคสมัยของเราและอนาคต” นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลแถลงวานนี้ (19) หลังเสร็จสิ้นการหารือระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านในกรุงเบอร์ลิน
โยอาคิม เกาค์ เคยลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี และพ่ายแพ้ต่อคริสเตียน วูลฟฟ์ ในเดือนมิถุนายน 2010 เกาค์ได้รับการสนับสนุนจากพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ และพรรคกรีนส์ ซึ่งต่างก็เป็นฝ่ายค้าน และได้รับการเสนอชื่ออีกครั้ง หลังจากวูลฟฟ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันศุกร์ (17) ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การประกาศหนุนหลังของแมร์เคิลเป็นเครื่องยืนยันถึงการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน และหากโยอาคิม เกาค์ ได้เป็นประธานธิบดี นั่นจะหมายความว่า ผู้นำสูงสุด 2 คนของประเทศ จะเป็นอดีตชาวเยอรมนีตะวันออกทั้งคู่ เนื่องจากแมร์เคิลเองก็มาจากเยอรมนีตะวันออกเช่นกัน
เสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนเกาค์อย่างชัดเจน โดยต่างมองว่า เกาค์สามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีเยอรมนี ซึ่งเป็นตำแหน่งพิธีการที่ควรเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมแก่ประชาชน ขณะที่คริสเตียน วูลฟฟ์ ถูกโจมตีเรื่องทุจริตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เกาค์เป็นศาสนาจารย์นิกายลูเธอรัน และเป็นหนึ่งในแกนนำการปฏิวัติโดนสันติวิธี ซึ่งนำไปสู่การทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ก่อนได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลาง ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบคดีเกี่ยวกับหน่วยตำรวจลับสตาซี (Stasi) ของเยอรมนีตะวันออก จนถึงปี 2000 ระหว่างนั้น เขาได้รับคำชื่นชมเรื่องจริยธรรมจากสื่อมาโดยตลอด
อนึ่ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา คริสเตียน วูลฟฟ์ ถูกสื่อแฉถึงสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจที่ชื่อว่า อีคอน เกร์เคนส์ (Egon Geerkens) ขณะวูลฟฟ์เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐโลว์เออร์แซกโซนี วูลฟฟ์ประกาศลาออกเมื่อวันศุกร์ หลังจากอัยการกำลังร้องขอให้เพิกถอนเอกสิทธิ์คุ้มครองของเขา เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่า วูลฟฟ์เคยรับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 500,000 ยูโร (ประมาณ 20 ล้านบาท) จากภรรยาของเกร์เคนส์ในปี 2008 เพื่อนำไปซื้อบ้าน ทว่า เมื่อมีการตั้งกระทู้ถามในเวลาต่อมา วูลฟฟ์กลับปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับนักธุรกิจคนนี้
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังถูกวิจารณ์ที่ส่งข้อความกดดันไม่ให้ ไค ดีคมันน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บิลด์ นำเรื่องนี้ออกมาตีแผ่ และยังมีข้อครหาเรื่องรับสินน้ำใจจากนักธุรกิจอีกหลายกรณี
เยอรมนีจะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 11 หลังสิ้นสมัยสงคราม ภายใน 30 วัน หลังการลาออกของคริสเตียน วูลฟฟ์