เอเอฟพี - ไฟป่า, ไฟที่เกิดในชั้นใต้ดิน (peat fire) และการเผาป่าเพื่อทำแปลงเกษตรกรรม คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 339,000 คนต่อปี ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่วานนี้ (18) ระบุ
ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้มียอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าสูงที่สุดราว 157,000 คนต่อปี ส่วนอันดับสองได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 110,000 คนต่อปี
“ดิฉันประหลาดใจมากที่ผลการประเมินออกมาสูงเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า การสัมผัสควันไฟป่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกับคนส่วนใหญ่... แม้กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแอฟริกา ก็เป็นปรากฎการณ์ตามฤดูกาลเท่านั้น ไม่ได้เกิดตลอดทั้งปี” เฟย์ จอห์นสตัน หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย กล่าวในที่ประชุมสมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา ที่เมืองแวนคูเวอร์
งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ลงวารสาร เอนไวเรินเมินทอล เฮลธ์ เพอร์สเปกทีฟส์ ชิ้นนี้ นับเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่ว่าด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากไฟป่า และการเผาเพื่อแปรสภาพป่าไม้ โดยนักวิจัยได้รวบรวมสถิติผู้เสียชีวิตในพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อผลกระทบของกลุ่มควันหนาทึบและการเผาป่า ระหว่างปี 1997-2006 นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลดาวเทียมและแบบจำลองการแพร่กระจายทางเคมี (chemical transport models) เพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพอันเกิดจากสสารอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครมิเตอร์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากควันไฟป่า
ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากไฟป่ายังนับว่าน้อยกว่าผลประเมินยอดผู้เสียชีวิตจากมลพิษภายในอาคารและมลพิษในเมืองใหญ่ ซึ่งสูงถึง 2 ล้านคน และ 8 แสนคนต่อปี ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยชี้ว่าผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าไฟป่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยพบว่ายอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า (ราว 532,000 คน) ในช่วงปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งหมายถึงภาวะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในเขตเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกสูงขึ้น ขณะที่ผู้เสียชีวิตในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ลานีญา อยู่ที่ราวๆ 262,000 คนเท่านั้น
จอห์นสตันสรุปว่า การเสียชีวิตจากไฟป่าจะลดลง หากมนุษย์หยุดเผาทำลายป่าเขตร้อนเพื่อแปลงเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและพืชชนิดอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ไฟป่ามีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดย ไมค์ แฟลนนิแกน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตาและนักวิทยาศาสตร์ประจำสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติแคนาดา ได้ทดลองสร้างแบบจำลองว่าไฟป่าจะมีความรุนแรงเพียงใดในช่วงปี 2081-2090 และพบว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะส่งผลให้กิจกรรมไฟป่าเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป
ปัจจุบัน พื้นที่ป่าทั่วโลกถูกเผาทำลายราว 350-450 ล้านเฮกตาร์ต่อปี ซึ่งเทียบเท่าพื้นที่ประเทศอินเดีย และทำให้รัฐบาลต่างๆต้องสูญเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อยับยั้งและควบคุมไฟป่า
แฟลนนิแกนชี้ว่า วิธีต่อสู้ไฟป่าในปัจจุบัน เช่น การใช้เครื่องบินโปรยน้ำและสารเคมี จะไม่สามารถต้านทานความรุนแรงของไฟป่าในอนาคตได้ ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงควรพิจารณาใช้วัสดุก่อสร้างบ้านที่ทนไฟ และหามาตรการป้องกันไฟป่ารอบๆชุมชน ขณะที่รัฐบาลก็จะต้องป้องกัน, ให้ความรู้, ออกบทลงโทษ และจำกัดเขตไฟป่าให้ได้เช่นกัน