xs
xsm
sm
md
lg

ประธานเวิลด์แบงก์ประกาศลาออกสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ เปิดศึกชิงเก้าอี้นายใหญ่คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก
เอเอฟพี - ประธานธนาคารโลก โรเบิร์ต เซลลิก ประกาศลงจากตำแหน่งภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เป็นการเปิดฉากต่อสู้แย่งชิงเก้าอี้ผู้นำเวิลด์แบงก์ครั้งใหม่ ในขณะที่สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญ

เซลลิก วัย 58 ปี เผยว่า เขาจะสิ้นสุดวาระ 5 ปี ในการดำรงตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์ ซึ่งชี้นำทั้งธนาคาร และประเทศสมาชิกให้ผ่านพ้นวิกฤตการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อประเทศยากจนหลายประเทศของโลก

“ผมรู้สึกยินดีที่เวลาโลกต้องการให้ธนาคารเดินหน้า ผู้ถือหุ้นของเราก็จะต้องสนองด้วยทรัพยากร และการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เพื่อการปฏิรูปสำคัญที่ทำให้เราไวกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และเปิดกว้างมากกว่าด้วย” เซลลิก แถลงในวันพุธ (15)

เขาเสริมว่า “ขณะนี้ ธนาคารโลกแข็งแกร่ง สมบูรณ์ และพร้อมสำหรับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่ผมจะเปลี่ยนไปให้การสนับสนุนผู้นำคนใหม่แทน”

การลาออกของเซลลิกนั้น ก่อให้เกิดการต่อสู้ครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงปี ระหว่างสหรัฐฯ และชาติยุโรป ที่มีอิทธิพลในเวิลด์แบงก์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ สถาบันการเงินพหุภาคีชั้นนำของโลกทั้ง 2 แห่ง

ตามข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างมหาอำนาจยุโรป และสหรัฐฯ ย้อนไปเมื่อปี 1945 ประธานเวิลด์แบงก์ทั้ง 11 คนเป็นชาวอเมริกัน และกรรมการผู้จัดการทั้งหมดของไอเอ็มเอฟก็มาจากประเทศในยุโรป

สำหรับผู้ที่คาดหมายกันว่าจะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกแทนเซลลิกนั้นเน้นที่ชาวอเมริกัน 3 คน คือ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลัง และแลร์รี ซัมเมอร์ส อดีตขุนคลังสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงเก้าอี้นี้ก็มีความเป็นไปได้ นับตั้งแต่การลาออกของ โดมินิก สเตราส์-คาห์น อดีต ผอ.ไอเอ็มเอฟ ที่ลาออกอย่างกะทันหันในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ก็เริ่มมีแรงกดดันจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ให้เสนอชื่อผู้นำกองทุน ที่ไม่ใช่ชาติยุโรป มากขึ้น

ขณะที่ องค์กรด้านการพัฒนาระหว่างประเทศหลายแห่ง และนักเคลื่อนไหวหลายรายชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับโอกาสในการเลือกผู้รับตำแหน่งแทนเซลลิกด้วย โดยเขียนในจดหมายเปิดผนึกว่า “ถึงเวลาที่สหรัฐฯ จะประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่ผูกขาดตำแหน่งประธานนี้อีกต่อไปแล้ว”

“ขณะที่ธนาคารโลกดำเนินการอยู่แต่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น และมีผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำมากที่สุด ดังนั้น ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยประเทศเหล่านั้นก็จะขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรง” จดหมายดังกล่าวระบุ

ด้าน กีโด มันเตกา รัฐมนตรีคลังของบราซิล ก็แนะว่า ผู้สมัครจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรมีโอกาสในการเป็นนายใหญ่ของธนาคารโลกเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์ มีอิทธิพลอย่างมาก โดยการบริหารโครงการใหญ่โตที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ และผู้คนให้พ้นจากความยากจน และสามารถกำหนดวาระการพัฒนา และความสำคัญทางสังคมทั่วโลกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น