เอเจนซีส์ - ถึงแม้เหล่าผู้นำทางการเมืองของกรีซออกมาประกาศในนาทีสุดท้ายว่า พวกเขาสามารถเห็นพ้องกันได้แล้วเกี่ยวกับข้อตกลงว่าด้วยการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและตัดลดงบประมาณรายจ่ายอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น แต่บรรดารัฐมนตรีคลังของยูโรโซนซึ่งประชุมกันเมื่อคืนวันพฤหัสบดี(9) ยังคงเห็นว่าไม่เพียงพอ และตั้งข้อเรียกร้องเพิ่มเติมขึ้นอีก รวมทั้งระบุให้รัฐสภาของกรีซต้องลงมติรับรองด้วย ก่อนที่พวกเขาจะพิจารณาอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือของอียู-ไอเอ็มเอฟก้อนที่สองแก่ประเทศที่กำลังใกล้จะอยู่ในฐานะผิดนัดชำระหนี้แห่งนี้
ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างกำลังรู้สึกขุ่นเคืองจากการที่เอเธนส์ผิดคำมั่นสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งเสียเวลาอยู่เป็นหลายสัปดาห์โดยไม่สามารถทำความตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่กรีซจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ได้รับเงินกู้ช่วยเหลือก้อนที่สองมูลค่า 130,000 ล้านยูโร (ราว 172,000 ล้านดอลลาร์) ในขณะที่เวลาก็ลดน้อยลงไปทุกทีสำหรับให้กรีซหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในสภาพผิดนัดชำระหนี้
บรรดารัฐมนตรีคลังของยูโรโซน (17 ชาติอียูที่ใช้สกุลเงินยูโร) ได้ประชุมกันอยู่ 6 ชั่วโมงในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อพิจารณาอนุมัติการให้เงินช่วยเหลือดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิรูปและตัดลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นที่เหล่าผู้นำการเมืองของกรีซโอเคกันได้เพียงไม่นานก่อนการหารือของขุนคลังยูโรโซนคราวนี้ จากนั้นก็ออกมาแถลงเตือนว่า ยังจะไม่มีการอนุมัติแพกเกจช่วยเหลือกรีซในทันที โดยที่เอเธนส์ยังจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นอีก
ฌอง-โคลด จุงค์เกอร์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังของลักเซมเบิร์ก ผู้เป็นประธานของเหล่าขุนคลังยูโรโซน แถลงว่า มีเงื่อนไข 3 ประการที่เอเธนส์จะต้องทำให้ได้ก่อน ได้แก่ รัฐสภาของกรีซต้องให้สัตยาบันรับรองแพกเกจความช่วยเหลือพร้อมเงื่อนไขต่างๆ เมื่อเปิดประชุมกันในวันอาทิตย์ (12) นี้
เงื่อนไขข้อที่สอง คือ กรีซจะต้องหาทางตัดลดงบประมาณรายจ่ายลงไปอีก 325 ล้านยูโร โดยระบุให้ชัดเจนว่าจะตัดอะไรกันบ้างภายในวันพุธหน้า (15) ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าบรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือที่เรียกขานกันว่า “ยูโรกรุ๊ป” จะกลับมาประชุมกันอีกครั้งหนึ่งในวันนั้นด้วย
“ข้อที่สาม เรายังจำเป็นที่จะต้องได้รับคำมั่นสัญญารับรองอย่างแข็งขันของฝ่ายการเมือง จากเหล่าผู้นำของพรรคร่วมรัฐบาลผสมของกรีซ ว่าด้วยการปฏิบัติตามแผนการนี้” จุงค์เกอร์กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมของยูโรกรุ๊ปที่กรุงบรัสเซลส์ “ส่วนประกอบเหล่านี้จำเป็นจะต้องเข้าที่เข้าทางเสียก่อน เราจึงจะสามารถตัดสินใจ (เรื่องอนุมัติแพกเกจช่วยเหลืองวดที่สอง) ได้”
“สรุปแล้ว ก่อนที่จะมีการปฏิบัติตามเงื่อนไข จะไม่มีการจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น”
เนื่องจากกรีซกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งกันในเดือนเมษายนนี้ พวกผู้นำพรรคการเมืองของกรีซจึงลังเลรีรอที่จะยอมรับเงื่อนไขอันเข้มงวดของพวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ออกเสียงที่กำลังอยู่ในอารมณ์โกรธเกรี้ยวมากขึ้นทุกที
ทางด้าน อิแวนเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลังของกรีซ ได้รีบออกจากที่ประชุมขุนคลังยูโรโซนในกรุงบรัสเซลส์อย่างรวดเร็ว โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า กรีซกำลังต้องเลือกว่าจะอยู่ในยูโรโซนต่อไป หรือว่าจะถอนตัว
“เราต้องรอไปจนกว่าจะถึงการประชุมยูโรกรุ๊ปคราวหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะจัดขึ้นในวันพุธ(15) ประเทศของเรา ประชาชนของเรา ควรจะต้องขบคิดให้ดี แล้วตัดสินใจเลือกเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสุดท้าย” เขากล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า การตัดสินใจที่สำคัญยิ่งยวดประการหนึ่งที่จะต้องทำ ได้แก่เรื่องเงื่อนไขข้อต่อรองเพื่อให้พวกเจ้าหนี้ภาคเอกชนผู้ถือครองพันธบัตรภาครัฐของกรีซยอมตัดลดหนี้ ด้วยวิธีนำพันธบัตรเดิมมาสว็อปพันธบัตรที่จะออกมาใหม่
เขาย้ำว่า ถ้าประชาชนกรีซยังมองเห็นว่าอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับการคงอยู่ในยูโรโซนแล้ว ก็ควรต้องยอมรับทั้งแพกเกจเงินกู้ช่วยเหลืองวดที่สอง และทำความตกลงกับพวกเจ้าหนี้ภาคเอกชนให้เสร็จสิ้นทันเวลา ก่อนที่พันธบัตรกรีซก้อนโตจะถึงกำหนดไถ่ถอนในเดือนมีนาคมนี้
ทางด้านรัฐบาลกรีซนั้น ได้ออกมาแถลงเรียกร้องให้พวกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายสนับสนุนเงื่อนไขแพกเกจเงินกู้ช่วยเหลือ เมื่อมีการเสนอเข้าสู่รัฐสภา เพราะผลการประชุมที่บรัสเซลส์แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า กรีซเดินไปได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการรัดเข้มขัดเพิ่มเติมที่กรีซกำลังถูกบีบให้ลงมือกระทำเหล่านี้ จะส่งผลกระทบกระเทือนมาตรฐานการครองชีพของชาวกรีกจำนวนมาก โดยที่ประเทศก็จมถลำลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงเป็นปีที่ 5 แล้ว รัฐมนตรีช่วยแรงงาน ยันนิส คุตซูคอส ของกรีซ ซึ่งสังกัดอยู่ทางฝ่ายสังคมนิยม ได้ยื่นใบลาออกเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขต่างๆ ในแพกเกจเงินกู้ช่วยเหลืองวดที่สอง ซึ่งเขาบอกว่าจะ “สร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงาน”
ทางด้านสหภาพแรงงานใหญ่ 2 แห่งของกรีซก็ประกาศที่จะทำการนัดหยุดงานเป็นเวลา 48 ชั่วโมงในวันศุกร์(10) และวันเสาร์(11) เพื่อคัดค้านมาตรการปฏิรูปและตัดลดการใช้จ่ายเหล่านี้
ก่อนหน้านี้ ปาโนส เบกลิติส โฆษกของพรรค PASOK ที่เป็นสายสังคมนิยม และร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน เช่นเดียวกับพรรค นิว เดโมแครซี (New Democracy) ที่เป็นสายอนุรักษนิยม และพรรค LAOS ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัด ได้เปิดเผยว่ามาตรการหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขของอียู-ไอเอ็มเอฟ ก็คือ จะต้องตัดลดค่าจ้างขั้นต่ำลงไป 22% โดยที่พวกเรียกร้องให้ตัดลดเช่นนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อทำให้เศรษฐกิจของกรีซมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
ขณะที่ อันโตนิส ซามารัส หัวหน้าพรรคนิว เดโมแครซี กล่าวปราศรัยที่มีการถ่ายทอดทางทีวี แก้ต่างให้แก่การที่พรรคการเมืองของกรีซแสดงการต่อต้านมาตรการตัดลดรายจ่ายอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นอีก พร้อมกับเรียกร้องให้บรัสเซลส์เปลี่ยนแปลงนโยบายเสียใหม่
“เมื่อประเทศของคุณกำลังเดินโซซัดโซเซ และความยึดเหนี่ยวเชื่อมติดกันทางสังคมของประเทศคุณก็ตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะเกิดการแตกแยกเช่นนี้ สมควรแล้วหรือที่ยาถอนพิษจากวิกฤตยังมีเพียงขนานเดียว ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานสูงยิ่งขึ้น และเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี?”
“เราควรแสดงให้ชาวยุโรปทั้งหลายเห็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกรีซนั้น อีกไม่ช้าไม่นานก็จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของยุโรปด้วย ถ้าหากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายของการใช้ความเข้มงวดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
แต่กระนั้น ซามารัสก็กล่าวด้วยว่าข้อตกลงที่ทำกับพวกเจ้าหนี้ของกรีซ ได้เปิดช่องทางให้สามารถตัดลดหนี้สินของกรีซลงไปก้อนใหญ่ ซึ่งจะ “ทำให้เราเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง”