เอเจนซี - นักอุตุนิยมวิทยาชั้นนำเตือนสภาพอากาศเดือนกุมภาพันธ์ที่หนาวเหน็บที่สุดในรอบหลายทศวรรษของยุโรปจะคงอยู่ไปแบบนี้อีกอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือน เพิ่มแนวโน้มยอดผู้เสียชีวิตที่อาจพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่น้ำอันเป็นเย็นยะเยือกและคลื่นลมแรงส่งผลให้มีปลาถูกซัดลอยตายเกลื่อนชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งของโครเอเชีย
"เรามั่นใจอย่างสูงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่อุณหภูมิจะไม่ทุเลาลงไป" ลีออน บราวน์ นักอุตุนิยมวิทยาจากวอเตอร์ ชาแนล ในอังกฤษบอกกับรอยเตอร์ส "บางทีกุมภาพันธ์อาจยังคงเป็นเดือนแห่งความหนาวเหน็บไปจนถึงสิ้นเดือน"
สภาพอากาศอันเลวร้ายและหิมะตกหนักได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายร้อยศพทั่วยุโรป ด้วยอุณหภูมิในบางประเทศแถบยุโรปตะวันออกดิ่งลงไปเฉียด -40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
กระทรวงกลาโหมบัลแกเรียเปิดเผยว่าจนถึงวันพุธ(8) ประชาชนในกว่า 130 หมู่บ้านต้องอยู่โดยปราศจากไฟฟ้าใช้ แต่ทหารก็พยายามเร่งมือนำอาหารและเวชภันฑ์ยาไปส่งมอบแก่ผู้ประสบภัย โดยในวันเดียวกันนี้ทางการได้ประกาศให้เป็นวันไว้อาลัยแก่ชาวบ้าน 8 รายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์หิมะหลอมละลายกัดเซาะกำแพงเขื่อนแห่งหนึ่งจนแตกและน้ำไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้าน ซึ่งเวลานี้ยังเหลือผู้สูญหายอีก 2 คน
ในบอสเนีย เจ้าหน้าที่เผยพบผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวและหิมะตกหนักเพิ่มอีก 5 คนในวันพุธ(8) ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในประเทศแห่งนี้อยู่ที่ 13 ศพ ส่วนที่เซอร์เบีย ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13 คนและชาวบ้านราว 70,000 ถูกตัดขาดจากหิมะกระหน่ำ ทั้งนี้ทางการต้องเรียกร้องให้ประชาชนขึ้นไปกวาดน้ำแข็งลงจากหลังคาหลังเกิดกรณีผู้หญิงรายหนึ่งถูกน้ำแข็งหล่นลงมากระแทกจนเสียชีวิตที่กรุงเบลเกรด
หน่วยงานด้านพลังงานของเซอร์เบีย บอกว่าขณะที่อุปสงค์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ภาวะน้ำแข็งกลับส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าพลังน้ำบางแห่ง ส่วนสถานีวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่งได้รายงานว่าคลื่นลมแรงได้ซัดพาฝูงปลาจากทะเลแอดเรียติกลอยขึ้นมาเกยตื้นตามชายฝั่งเกาะแพก "แทนที่จะต้องตกปลาหรือไปซื้อหาตามตลาด ผู้คนก็แค่นำถุงช้อปปิ้งไปเก็บปลาที่เกยตื้นตามชายฝั่งเท่านั้น"
เจ้าหน้าที่จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ให้ความเห็นในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิหนาวเหน็บจะปกคลุมยุโรปไปตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์
โอมาร์ แบดเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพถูมิอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่ามีแนวโน้มจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศในช่วงสัปดาห์หน้า แต่อุณหภูมิที่หนาวจัดจะยังคงปกคลุมยุโรปจนไปถึงช่วงปลายเดือนนี้
สภาพอากาศที่หนาวเหน็บผลักให้ราคาก๊าซในอังกฤษพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 โดยปรับตัวสูงขึ้นจากก่อนหน้านี้มากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันรัสเซียก็จำเป็นต้องลดส่งออกก๊าซมายังยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ที่สูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ภายในประเทศ ส่งผลให้ชาติต่างๆอย่างอิตาลี ต้องหันไปเพิ่มการนำเข้าจากแอลจีเรีย