เอเอฟพี - ศาลรัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมออกคำวินิจฉัยว่า สัตว์ที่ถูกนำมาแสดงโชว์ตามสวนสนุกต่างๆ นั้น จะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการตัดสินคดีลักษณะนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
กลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ยื่นคำร้องต่อศาลเมืองซานดิเอโก ในฐานะตัวแทนของปลาวาฬเพชฌฆาต 5 ตัว คือ ติลิกุม, คาทินา, คอร์กี, คาซัตกา และ ยูลิเซส ซึ่งถูกฝึกให้แสดงกายกรรมในสวนน้ำ “ซีเวิลด์” เมืองซานดิเอโก และเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา
กลุ่ม PETA ระบุว่า การที่ซีเวิลด์ “ใช้แรงงาน” วาฬเพชฌฆาต ถือว่าขัดต่อมาตราที่ 13 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งห้ามมิให้มีการใช้แรงงานทาส
ผู้พิพากษาศาลแขวง เจฟฟรีย์ มิลเลอร์ พิจารณาคำร้องของฝ่ายโจทก์เมื่อวันจันทร์ (6) ที่ผ่านมา ขณะที่ ซีเวิลด์ ยื่นขอให้ศาลยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยคาดว่าผู้พิพากษาจะประกาศคำตัดสินในภายหลัง
เอกสารคำร้องที่ PETA ยื่นต่อศาลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เรียกร้องให้ศาล “ประกาศให้วาฬเพชฌฆาตทั้ง 5 ตัวถูกจำเลยใช้แรงงานทาส หรือถูกนำมาเป็นทาสอย่างไม่เต็มใจ ซึ่งเป็นการละเมิดมาตราที่ 13 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯอเมริกา”
“นี่จะเป็นขอบเขตใหม่สำหรับสิทธิพลเมือง” เจฟฟ์ เคอร์ ที่ปรึกษาของ PETA ระบุ
“การตกเป็นทาสไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสายพันธุ์ เช่นเดียวกับเชื้อชาติ, เพศ หรือชาติพันธุ์... การบีบบังคับ, ลดฐานะ หรือกดขี่ ถือเป็นลักษณะของการใช้แรงงานทาสทั้งสิ้น ซึ่งวาฬเพชฌฆาตเหล่านี้ก็ตกเป็นเหยื่อการกระทำทั้ง 3 รูปแบบ”
ฝ่ายโจทก์ประกอบด้วย อดีตครูฝึกวาฬเพชฌฆาต 3 คน, นักชีววิทยาทางทะเล และผู้ก่อตั้งกลุ่ม PETA ซึ่งเป็น “เพื่อน” ของวาฬทั้ง 5 ตัว และต้องการเรียกร้องความยุติธรรมแทนพวกมัน เอกสารคำร้อง ระบุ
PETA ขอให้ศาล “ตั้งผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย และนำวาฬเพชฌฆาตทั้ง 5 ตัวออกจากสถานกักกันของซีเวิลด์ เพื่อไปยังแหล่งอาศัยที่เหมาะสม โดยให้เป็นไปตามความต้องการและผลประโยชน์สูงสุดสำหรับวาฬแต่ละตัว”
ด้านสวนน้ำ ซีเวิลด์ ยื่นเอกสารแก้ต่างว่า บัญญัติรัฐธรรมนูญ “ปกป้องมนุษย์จากการเป็นทาส หรือตกเป็นทาสโดยไม่เต็มใจเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงสัตว์” และศาลก็ไม่มีอำนาจขยายขอบเขตของบัญญัติดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสัตว์ด้วย ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็เปรียบเสมือน “เปิดกล่องแพนโดรา (Pandora's Box) ซึ่งภายในบรรจุปัญหายุ่งยากและผลลัพธ์ที่ไร้สาระเอาไว้”
ติลิกุม เคยทำร้ายครูฝึกจนจมน้ำเสียชีวิตระหว่างทำการแสดงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 และถูกขังไว้ในบ่อคอนกรีตอย่างโดดเดี่ยวตั้งแต่นั้นมา PETA เผย
ซีเวิลด์ ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่เคยทารุณกรรมสัตว์ และกล่าวหา PETA ว่าต้องการสร้างเรื่องเพื่อเรียกร้องความสนใจเท่านั้น