เอเอฟพี - มหาอำนาจตะวันตกและสันนิบาตอาหรับเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมติยับยั้ง “เครื่องจักรสังหาร” ของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียในทันที วานนี้(30) ทว่ารัสเซียซึ่งเป็นมหามิตรของดามัสกัส ปฏิเสธจะให้ความร่วมมือ
ข้อเรียกร้องต่อยูเอ็นมีขึ้น หลังการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกบฎกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซีเรียดุเดือดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุปะทะที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 เดือนนี้กว่า 5,400 รายแล้ว
ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งฝรั่งเศส, อังกฤษ และกาตาร์ เป็นผู้นำกดดันให้ ยูเอ็น ประกาศมติขั้นเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้ อัสซาด หยุดสังหารพลเรือนและยอมสละอำนาจ
“เราทุกคนรู้ดีว่า ซีเรียกำลังก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง และแม้จะใช้วิธีการอันป่าเถื่อนเพียงไร สุดท้ายระบอบอัสซาดก็จะต้องล่มสลาย... แต่คำถามก็คือ จะต้องมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตอีกมากเท่าใด ประเทศนี้จึงจะก้าวไปข้างหน้า” คลินตัน กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ด้าน ชัยค์ ฮามาด บิน ญัสซิม อัล-ทานี นายกรัฐมนตรีกาตาร์ กล่าวในฐานะผู้แทนสันนิบาตอาหรับว่า รัฐบาลอัสซาด “ไม่แสดงความจริงใจ” ในการคลี่คลายวิกฤต และเชื่อแต่เพียงว่า ทางออกคือการ “สังหารพลเมืองของตนเอง”
อย่างไรก็ตาม รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของ อัสซาด และเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่แก่ซีเรีย ประกาศว่า คณะมนตรีความมั่นคงฯไม่มีอำนาจประกาศมติเช่นนั้น ซึ่งจีนก็แสดงท่าทีเห็นด้วยกับมอสโก
วิทาลี เชอร์คิน ผู้แทนรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ซีเรีย “ควรมีอำนาจตัดสินกิจการภายในของตน” และคณะมนตรีความมั่นคงฯ “ไม่สามารถออกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศใด และไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น”
อย่างไรก็ดี การอภิปรายเป็นไปอย่างรอมชอม และ เชอร์คิน ก็ยอมรับว่า มติล่าสุดของยูเอ็น “ช่วยให้มีความหวังขึ้นมาบ้าง”
“เราหวังว่า คณะมนตรีความมั่นคงฯจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาซีเรีย ซึ่งไม่เพียงเป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นอีกด้วย” เชอร์คิน เผย
ผู้แทนรัสเซียยังเผยท่าทีประนีประนอมระหว่างให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในภายหลังว่า “ผมคิดว่าเราสามารถประกาศมติบางอย่าง ซึ่งจะช่วยให้สันนิบาตอาหรับเข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้น”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าก็คือ ข้อเรียกร้องของสันนิบาตอาหรับที่ต้องการให้ อัสซาด สละอำนาจโดยเร็วที่สุด
“การเปลี่ยนแปลงระบอบไม่ใช่หน้าที่ของเรา” เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวระหว่างเดินทางเยือนออสเตรเลีย
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า คลินตัน พยายามติดต่อ ลาฟรอฟ ถึง 2 วันเต็ม แต่ก็ไม่เป็นผล และเธอก็ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่าถูก ลาฟรอฟ พูดจาดูหมิ่น โดยระบุว่า ติดต่อกันได้ลำบากเพราะอยู่ไกลถึงออสเตรเลีย
โมร็อกโก ซึ่งเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ เสนอร่างมติให้ตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ขึ้นในซีเรีย เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส โดยย้ำว่าจะไม่ส่งกองกำลังต่างชาติเข้าไปแทรกแซงเหมือนกรณีลิเบียแน่นอน
ด้าน บาชาร์ จาฟารี ผู้แทนซีเรียประจำองค์การสหประชาชาติ ยังแสดงท่าทีดื้อดึง และกล่าวว่าประเทศของตนจะ “ยืนหยัดเผชิญหน้ากับศัตรู” ต่อไป ทั้งยังกล่าวหายุโรปและอาหรับว่า “ใช้ 2 มาตรฐาน” และ “ปลุกปั่นให้เกิดวิกฤตในซีเรีย”