xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: นักวิเคราะห์เชื่อ “รัสเซีย” ยังไม่เกิด “อาหรับสปริง” เร็วๆนี้แม้คนยี้ปูติน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
เอเอฟพี - แม้ชาวรัสเซียจะเริ่มตื่นตัวทางการเมือง และออกมาแสดงพลังต่อต้านระบอบ วลาดิเมียร์ ปูติน มากขึ้นเรื่อยๆ แต่นักวิเคราะห์มองว่า จะยังไม่เกิดปรากฎการณ์คล้าย “อาหรับ สปริง” เพื่อโค่นล้มปูตินในเร็วๆนี้

กระนั้นก็ตาม เส้นทางของ ปูติน ในอีกหลายปีข้างหน้าคงจะไม่ราบรื่น หากเขายังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ขณะที่มีแนวโน้มว่าตนจะได้กลับมาครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดของรัสเซียอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ในวันที่ 4 มีนาคมนี้

การประท้วงใหญ่ซึ่งฝ่ายต่อต้านสามารถระดมคนมาได้นับหมื่น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ ปูติน ขึ้นครองอำนาจ แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับการลุกฮือในตูนิเซียและอียิปต์ ซึ่งเป็นการประท้วงแบบถาวรแม้จะถูกรัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามก็ตาม

“ชาวรัสเซียที่ออกมาเดินขบวนรู้สึกโกรธแค้น แต่โดยรวมแล้ว พวกเขาเพียงต้องการความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตที่สดใสเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิวัติ” ฟีโอดอร์ ลุคยานอฟ บรรณาธิการบริหารวารสารรัสเซีย อิน โกลบอล พอลลิทิกส์ ระบุ

“รัสเซียไม่มีความตึงเครียดเหมือนในประเทศอาหรับ และรัฐบาลก็ใช้ความอดกลั้นกับผู้ชุมนุมมากกว่า”

ชาวรัสเซียนับหมื่นคนจะออกมาประท้วงกลางกรุงมอสโกอีกครั้งในวันเสาร์(4)นี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 เดือน หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าพรรครัฐบาลของปูตินโกงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปีที่แล้ว

ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวกับการประท้วงมากนัก แม้จะรู้สึกไม่พอใจรัฐบาล และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ตาม

จากผลสำรวจโดยสถาบัน เลวาดา เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 44 สนับสนุนการประท้วง แต่มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่พร้อมจะออกมาแสดงพลังด้วยตนเอง ขณะที่ร้อยละ 11 บอกว่า “เกือบจะพร้อม”

ชาวรัสเซียหลายหมื่นคนที่ออกมาชุมนุมในกรุงมอสโก2 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตค่อนข้างสุขสบาย และมีโอกาสรับแนวคิดใหม่ๆจากการเดินทางไปต่างแดนและท่องอินเทอร์เน็ต

“ในกรณีของอียิปต์ ชนชั้นกลางเพียงทำหน้าที่จุดประกายให้ชนชั้นอื่นๆในสังคมออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน” มาเซ็น อับบาส ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว อัล-อาราบียา ในกรุงมอสโก และประธานสมาคมผู้อพยพชาวอาหรับในรัสเซีย เผย

“สถานการณ์ในรัสเซียต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะมีแต่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่ออกมาประท้วง”

“ประชาธิปไตยแบบจัดการ (managed democracy) ที่รัสเซียมีอยู่ขณะนี้ ไม่เหมือนระบอบเผด็จการเมื่อ 30-40 ปีก่อน ประชาชนยังพอมีพื้นที่ให้แสดงความไม่พอใจได้” อับบาส เสริม

อย่างไรก็ตาม โบริส โดลกอฟ จากศูนย์อาหรับศึกษา สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติรัสเซีย ชี้ว่า เครมลินกำลังเผชิญความสุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง

“การปฏิวัติในรัสเซียที่ผ่านๆมาล้วนเริ่มจากการชุมนุมประท้วงทั้งสิ้น และขณะนี้รัสเซียก็ประสบปัญหาทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งสถิติอาชญากรรมก็สูงขึ้น” เขากล่าว

“จะเกิดการลุกฮือหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะทำอย่างไร”

รัฐบาลเครมลินตอบสนองผู้ประท้วงด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากผู้นำอาหรับ กล่าวคือ ปล่อยให้ประชาชนเดินขบวนได้ตามใจปรารถนา หลังจากได้รับอนุญาตจากทางการแล้ว ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีป้ายสีเพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้าน โดยอ้างว่าคนเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ และเป็นนักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงที่ต้องการเลียนแบบการปฏิวัติในโลกอาหรับ

“แกนนำผู้ชุมนุมพร้อมหรือไม่ที่จะประกาศว่า ประเทศนี้ขาดความชอบธรรมในทางการเมืองและกฎหมายอย่างสิ้นเชิง และขาดอำนาจอธิปไตยด้วย” วาเลอรี ซอร์คิน ประธานศาลรัฐธรรมนูญรัสเซีย กล่าวท้าทาย

“พวกเขาพร้อมหรือไม่ที่จะเชื้อเชิญให้ “ศัตรู” มาสนับสนุนการตั้งรัฐใหม่ โดยอาศัยแบบอย่างจากลิเบีย” ซอร์คิน เขียนลงในคอลัมน์ “รัสเซีย: วิวัฒนาการไปสู่กฎหมายหรือความยุ่งเหยิง” ซึ่งเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ รอสซิสกายา กาเซตา

กำลังโหลดความคิดเห็น