เอเอฟพี - ช้างสุมาตราที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติอาจสูญพันธุ์ภายใน 30 ปี หากมนุษย์ไม่หยุดทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันตั้งแต่วันนี้ องค์กรอิสระเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (WWF) เตือน วันนี้ (24)
ประชากรช้างสุมาตราที่อาศัยอยู่ในป่าของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เหลืออยู่ประมาณ 2,400-2,800 เชือกในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของสถิติในปี 1985 WWF ระบุ
ด้านสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ก็ได้เปลี่ยนสถานะของช้างสุมาตราจากสัตว์ “ใกล้สูญพันธุ์” (endangered) เป็น “ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต” (critically endangered) แล้ว
ช้างประเภทนี้เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าอีกหลายชนิดบนเกาะสุมาตราที่อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต เช่น ลิงอุรังอุตัง, แรด และเสือสุมาตรา
“การหยุดแปรสภาพถิ่นที่อยู่ของพวกมันไว้ชั่วคราวถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่ออนาคตของช้างสุมาตรา” WWF เตือนในถ้อยแถลง
“นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากแนวโน้มการทำลายป่ายังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ช้างสุมาตราจะหมดไปจากธรรมชาติภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี”
WWF อธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรช้างสุมาตราลดลงก็คือ การแผ้วถางป่าเพื่อแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร
ด้าน ไอยูซีเอ็น แถลงว่า สาเหตุที่ปรับสถานะของช้างสุมาตราเป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต” ก็เนื่องจากถิ่นที่อยู่ของช้างเอเชียที่มีขนาดเล็กที่สุดชนิดนี้หายไปถึงร้อยละ 70 และจำนวนพวกมันก็ลดลงกว่าครึ่งภายในช่วงชีวิตประชากร 1 รุ่น
แม้กฎหมายอินโดนีเซียจะกำหนดให้ช้างสุมาตราเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ทว่าผืนป่าอันเป็นที่อยู่ของพวกมันกว่าร้อยละ 85 กลับไม่ได้รับการปกป้อง เนื่องจากอยู่นอกเขตป่าสงวน ไอยูซีเอ็น เผย
ประชากรช้างในจังหวัดริเอา (Riau) บนเกาะสุมาตราลดลงถึงร้อยละ 80 ภายในเวลา 25 ปี เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษและทำสวนปาล์มน้ำมัน WWF ระบุ