เอเอฟพี/ทูเดย์ออนไลน์ - สิงคโปร์เตรียมปรับลดเงินเดือนรัฐมนตรีลงอย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วปรากฎว่าพรรครัฐบาล พีเพิลส์ แอ็กชัน ปาร์ตี (พีเอพี) ได้คะแนนเสียงลดลงเป็นประวัติการณ์ รายงานระบุวันนี้ (4)
ข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการทบทวนอัตราเงินเดือน ประกอบด้วย
- ลดเงินเดือนตลอดทั้งปีของประธานาธิบดีลง 51 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือเพียง 1.54 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (37.5 ล้านบาท)
- ลดเงินเดือนตลอดทั้งปีของนายกรัฐมนตรีลง 36 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือเพียง 2.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (53.6 ล้านบาท)
- ลดเงินเดือนของรัฐมนตรีระดับเพิ่งเข้าสู่ตำแหน่ง ลง 37 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือเพียงปีละ 1.1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (26.8 ล้านบาท) แต่ทั้งนี้รัฐมนตรีระดับเพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งที่มีเงินเดือนต่ำสุดนั้นจะอยู่ที่ปีละ 935,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (22.8 ล้านบาท)
- ลดเงินเดือนประธานสภาลง 53 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือเพียงปีละ 550,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (13.4 ล้านบาท)
- ลดเงินเบี้ยเลี้ยงรองประธานสภาลง 15 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือเพียงปีละ 82,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2 ล้านบาท)
- ลดเงินเบี้ยเลี้ยงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลง 3 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงปีละ 192,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (4.7 ล้านบาท) ส่วนเงินเบี้ยเลี้ยงตลอดปีสำหรับสมาชิกสภาที่ไม่ได้มาจากเขตเลือกตั้ง (non-constituency member of parliament) และสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้ง (nominated member of parliament) ให้ลดลง 4 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 28,900 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 700,000 บาท)
- ยกเลิกระบบเบี้ยบำนาญตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2011 และให้ใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางแทน
- คงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไว้ รวมถึงนโยบาย “ห้ามผลประโยชน์แอบแฝง” (no hidden perks)
แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เงินเดือนตลอดปีของนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ลดเหลือเพียง 2.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (53.6 ล้านบาท) ทว่าก็ยังเป็นอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าผู้นำประเทศใดๆในโลก รวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งได้เงินเดือนประจำตำแหน่งเพียง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (ราว 12.6 ล้านบาท)
การลดอัตราเงินเดือนครั้งนี้จะมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2011 ซึ่งเป็นวันเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
พรรคพีเอพีซึ่งนำพาสิงคโปร์ให้ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย ในปี 1965 และครองอำนาจยาวนานมาตั้งแต่นั้น เริ่มแสวงหาวิธีปกป้องฐานอำนาจของตน หลังจากปีที่แล้วได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมาเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ก็ประกาศในพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งว่า จะทบทวนเงินเดือนนักการเมืองเป็นภารกิจอันดับแรก
ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีสิงคโปร์จะได้รับเงินเดือน 2 ใน 3 ของ 4 ผู้ที่มีรายได้สูงสุดใน 6 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ การธนาคาร, การบัญชี, วิศวกรรมศาสตร์, นิติศาสตร์, ภาคการผลิต และบริษัทข้ามชาติ ซึ่งหมายความว่า เงินเดือนรัฐมนตรีจะยังขึ้นอยู่เสมอแม้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม สร้างความคับแค้นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่รับไม่ได้กับช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เพิ่มขึ้นทุกปี