xs
xsm
sm
md
lg

Focus: สื่อนอกชี้ “นิคมอุตสาหกรรมไทย” ต้องใช้เวลาฟื้นฟูยาวหลังน้ำลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองขยะและเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เสียหายจากน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม
เอเอฟพี - เศษขยะ, เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องจักรกลที่พังพินาศยังถูกกองทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนึ่งในสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทยที่ถูกทิ้งร้างหลังน้ำท่วมสูงนานหลายสัปดาห์

หลายบริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสามารถผลิตสินค้าได้ตามเดิม ขณะที่การฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจต้องใช้เวลานานยิ่งกว่า

ซันโย เซมิคอนดักเตอร์ เป็นหนึ่งในอีกหลายบริษัทที่ตัดสินใจถอนโรงงานออกจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุทกภัย ขณะที่อีกหลายรายมองหาฐานการผลิตอื่นๆที่น่าจะปลอดภัยกว่า

“เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราจึงตระหนักว่าเรามาอยู่ผิดที่ผิดทาง เรามาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย” ริชาร์ด ฮัน ผู้บริหารบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโรงงานได้รับความเสียหายอย่างหนัก เผย

ฮัน กล่าวว่า ต่อให้สร้างพนังกั้นน้ำขนาดใหญ่รอบนิคมอุตสาหกรรม โรงงานต่างๆก็ยังต้องหยุดการผลิตอยู่ดีหากเกิดน้ำท่วม เนื่องจากการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก

“ลูกค้าของผมเข้าใจดี... พวกเขาทยอยย้ายธุรกิจไปที่อื่นกันหมด” ฮัน เผย

มหาอุทกภัยในรอบหลายสิบปีของไทยสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่หยุดชะงักลงส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก และทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า บริษัทประกันภัยต่างๆจะยังรับประกันให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่

บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่อย่าง โตชิบา ยังไม่อาจบอกได้ว่าจะกลับมาดำเนินการผลิตที่โรงงานทั้ง 8 แห่งได้เมื่อใด เนื่องจากต้องหาเครื่องจักรกลและชิ้นส่วนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด ขณะที่ระบบไฟฟ้าและประปาก็ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม

“เราทำลายสินค้าในโกดังซึ่งเสียหายจากน้ำท่วมไปมากกว่า 100,000 ชิ้น” โฆษกหญิงของ โตชิบา กล่าว

กระแสน้ำซึ่งหลากเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะสูงกว่า 2 เมตร ลดระดับลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และคนงานกลุ่มเล็กๆกำลังเร่งทำความสะอาดพื้นที่ เพื่อให้ศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งนี้กลับมามีชีวิตดังเดิม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พนักงานซึ่งสวมรองเท้าบูทยางและหน้ากากอนามัยระดมฉีดน้ำทำความสะอาดพื้นและผนังโรงงานฮอนด้า ซึ่งเต็มไปด้วยคราบสีน้ำตาลเนื่องจากจมอยู่ใต้น้ำนานหลายสัปดาห์ ขณะที่รถยนต์อีกหลายร้อยคันซึ่งจอดอยู่ด้านนอกต่างมีสภาพเป็นสีโคลน
พนักงานเริ่มกลับเข้ามาทำความสะอาดโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
แม้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นหลายแห่งจะประกาศยืนหยัดรักษาฐานการผลิตในไทยต่อไป ทว่าลึกๆแล้ว ผู้ผลิตเหล่านี้ก็ไม่พอใจต่อวิธีจัดการปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลที่ค่อนข้างสับสน

“ผมหวังว่ารัฐบาลไทยจะทำอะไรมากกว่านี้” ประธานบริษัทสิ่งทอของญี่ปุ่นรายหนึ่งกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาต้องพึ่งพาข้อมูลจากสื่อมวลชนเป็นหลัก

บริษัทแห่งนี้ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) มากนัก ถูกน้ำท่วมสูงถึง 1.5 เมตร แม้จะนำกระสอบทรายมาป้องกันแล้วก็ตาม

“ช่วงแรกๆดอนเมืองถูกใช้เป็นศูนย์อพยพและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนั้นรัฐบาลจึงยืนยันว่าปลอดภัยแน่ แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็เอาไม่อยู่” นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุ

สินค้าในสต็อกของเขาเสียหายทั้งหมด ส่วนเครื่องจักรก็ถูกน้ำท่วมจนกลายเป็นสนิม และต้องได้รับการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ยกชุด แต่นักธุรกิจรายนี้บอกว่า ยังไม่คิดโบกมืออำลาเมืองไทย

“เราจะเปิดโรงงานอีกครั้งในสถานที่เดิม และใช้พนักงานชุดเดิม” เขายืนยัน แต่ก็เสริมว่า “ผมหวังว่ารัฐบาลคงจะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีกในปีหน้า”

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมเชิญผู้บริหารทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพมหานครในเดือนหน้า และจะประกาศมาตรการป้องกันอุทกภัยในระยะยาว

นอกจากแผนสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆแล้ว ยังมีผู้เสนอแนวคิดให้ขุดแม่น้ำสายใหม่ เพื่อให้การระบายน้ำจากที่ราบภาคกลางลงสู่ทะเลทำได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตต่างชาติที่สูญเสียรายได้ไปกับอุทกภัย ทางออกเหล่านี้ยังถือว่านานเกินรอ

“พวกเราเดือดร้อนกันมาก เราต้องต่อสู้และเหน็ดเหนื่อยมากเหลือเกิน หากรัฐบาลไทยคิดจะทำอะไร ก็ขอให้ประกาศออกมาโดยเร็ว” เยียป สวี ฉวน ประธานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อาปิโก ไฮเทค กล่าว
เศษซากความเสียหายถูกกองทิ้งไว้หน้าโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น