xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาลั่นอเมริกันไม่ทอดทิ้งอิรักยันถอนทหารสิ้นเดือนตามสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ(ขวา) แถลงข่าวร่วมกับ นายกรัฐมนตรีนูริ อัล-มาลิกิแห่งอิรัก ระหว่างที่ผู้นำแบกแดดเยือนกรุงวอชิงตัน
เอเอฟพี - โอบามายืนยันกับผู้นำแบกแดดที่มาเยือน อเมริกาจะเป็นพันธมิตร "ยืนยง” ของอิรักที่มีอธิปไตยและ “พึ่งพาตัวเองได้” ลั่นรักษาสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะยุติสงครามอันเจ็บปวดด้วยการถอนทหารอเมริกันออกจากอิรักอย่าง “สง่าผ่าเผย” ภายในเดือนนี้ พร้อมเตือนไม่ให้อิหร่านเข้าไปวุ่นวายกับกิจการภายในของอิรัก

"ผ่านไปเกือบ 9 ปี สงครามในอิรักกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนนี้” ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (12) และเสริมว่า ขณะนี้คือเวลาสำหรับการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และอิรัก

ผู้นำทำเนียบขาวย้ำว่า ชาวอิรักจะไม่โดดเดี่ยว ทว่า มีพันธมิตรยืนยงอยู่ในสหรัฐอเมริกา

การเยือนกรุงวอชิงตันของนายกรัฐมนตรีนูริ อัล-มาลิกิ เที่ยวนี้ เป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดของยุคที่การเมืองอเมริกันมีความแตกแยกรุนแรง ภาพลักษณ์ของอเมริกามัวหมอง การสังหารนองเลือดจากความแตกแยกด้านลัทธิความเชื่อ และทำให้มีกองกำลังอเมริกันเสียชีวิตเกือบ 4,500 นาย และชาวอิรักอีกหลายหมื่นคน

“ตราบเท่าที่อิรักประกาศว่าจะไม่แทรกแซงประเทศอื่น ประเทศอื่นๆ ก็ต้องไม่แทรกแซงอิรักเช่นเดียวกัน” โอบามาส่งสัญญาณเตือนถึงอิหร่านโดยตรง

โอบามายังนำมาลิกิไปยังสุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน ที่ซึ่งมีร่างของชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากสงครามจำนวนมากฝังอยู่

สงครามอิหร่านริเริ่มโดย จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเมื่อปี 2003 และโอบามาก็ประกาศตั้งแต่ตอนรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีว่า จะยุติศึกคราวนี้ คำสัญญานี้มีส่วนที่ทำให้เขาขึ้นครองทำเนียบขาวในปี 2008

ตอนที่เข้ารับตำแหน่ง ยังมีทหารอเมริกันกว่า 150,000 นายประจำอยู่ในอิรัก แต่โอบามาให้สัญญาว่า ทหารอเมริกันคนสุดท้ายจะได้กลับบ้านภายในช่วงเทศกาลวันหยุดคริสต์มาสนี้ หลังจากที่แผนการยุติสงคราม “อย่างมีความรับผิดชอบ” คืบหน้าไปด้วยดี

ทั้งนี้ ผู้นำทำเนียบขาวกำลังใช้การรักษาคำมั่นโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ต้องตัดสินใจในปีหน้าว่าจะให้เขาอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ ถึงแม้มันอาจจะถูกบดบังด้วยความล้มเหลวในการฟื้นความมั่งคั่งของประเทศ ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

โอบามาสำทับว่า วอชิงตันต้องการเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียมกับอิรักในด้านความมั่นคง การค้า และต้องการส่งเสริมสถาบันการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธของอิรัก

เจ้าหน้าที่เผยว่า แบกแดดจะซื้อเครื่องบินเอฟ-16 รอบสองอีก 18 ลำจากสหรัฐฯ เพื่อเสริมความ ปลอดภัยน่านฟ้า และโอบามาเสนอกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของทั้งสองชาติ

ด้านมาลิกิกล่าวว่า อิรักวันนี้มีความมั่งคั่ง และต้องการประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากอเมริกาและต่างชาติ เพื่อช่วยในการนำความมั่งคั่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ อีกทั้งแสดงความหวังว่า บริษัทน้ำมันอเมริกันจะช่วยอิรักสำรวจหาแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่มากมายมหาศาล

ผู้นำแบกแดดสำทับว่า การถอนทหารเต็มรูปแบบของสหรัฐฯ เป็นข้อพิสูจน์ “ความสำเร็จ” ไม่ใช่ความล้มเหลวอย่างที่คู่แข่งทางการเมืองของโอบามาโจมตี

การถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากอิรัก เป็นข้อตกลงที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แล้ว

แต่สหรัฐฯกับอิรักได้เจรจากันอย่างยาวนาน เกี่ยวกับกองกำลังทหารอเมริกันที่จะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคตเพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรมกองกำลังความมั่นคงของอิรัก จนกระทั่งในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับว่าล้มเหลว เพราะตกลงกันไม่ได้ในประเด็นเรื่องเอกสิทธิ์ที่จะไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมายอิรักของทหารอเมริกันเหล่านี้

เรื่องนี้ทำให้ จอห์น แมกเคน วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน กล่าวหาว่าทั้งโอบามาและมาลิกิล้มเหลวต่อความรับผิดชอบในด้านผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน เนื่องจากขาดวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น และความเป็นผู้นำ

ปัจจุบัน ยังมีทหารอเมริกันอยู่ในฐานทัพ 3 แห่งในอิรักราว 6,000 คน ลดจากสถิติสูงสุด 170,000 นายและฐานทัพ 505 แห่ง และทหารที่เหลืออยู่ทั้งหมดนี้จะต้องเดินทางออกมาภายในปลายเดือนนี้ โดยโอบามามีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์กับทหารอเมริกันที่เดินทางกลับจากอิรัก ณ ฐานทัพในนอร์ธแคโรไลนาในวันพุธ (14) เพื่อประกาศการถอนกองกำลังชุดสุดท้ายออกจากอิรัก

สหรัฐฯอวดอ้างว่าแม้กองทหารของตนจะถอนออกไป แต่สิ่งที่ตนทิ้งเอาไว้เบื้องหลังก็คือ กองกำลังความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจของอิรัก ที่มีกำลังพลกว่า 900,000 คน ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า สามารถปกป้องความมั่นคงภายในได้ แต่ยังไม่สามารถป้องกันพรมแดน น่านฟ้า หรืออธิปไตยทางทะเลของอิรักได้

อย่างไรก็ดี ทหารอเมริกันในเครื่องแบบ 157 คน และเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมาสัญญาพลเรือน 763 คน จะยังคงอยู่เพื่อช่วยฝึกกองกำลังอิรักภายใต้ความรับผิดชอบของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในแบกแดด

อนึ่ง ระหว่างเยือนวอชิงตันคราวนี้ มีประเด็นหนึ่งที่มาลิกิมองต่างมุมกับโอบามา คือเรื่องซีเรีย ซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแบกแดด

โอบามานั้นย้ำจุดยืนว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด หมดความชอบธรรมจากการปราบปรามผู้ประท้วงและควรลาออก ขณะที่มาลิกิกล่าวว่า แม้เขาเห็นว่าชาวซีเรียสมควรมีเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยแบบคนอิรัก แต่ตัวเขาไม่มี “สิทธิ์” เรียกร้องให้ผู้นำชาติอื่นลาออก
กำลังโหลดความคิดเห็น