xs
xsm
sm
md
lg

2011 ปีแห่งการประท้วง จากไล่เผด็จการอาหรับ ถึงปัญหาเศรษฐกิจตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การชุมนุมของกลุ่ม “อินดิกนาดอส” (indignados) ในสเปน ณ จัตุรัสปูเอร์ตา เดล ซอล กรุงมาดริด เมื่อเดือนมิถุนายน เพื่อประท้วงรัฐบาล กรณีปัญหาการว่างงาน และมาตรการรัดเข็มขัด
เอเอฟพี - การประท้วง “อินดิกนาดอส” ในสเปน ลุกลามสู่การประท้วง “อ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท” ในสหรัฐฯ ส่งผลให้ปี 2011 กลายเป็นวาระแห่งการเผชิญหน้าระหว่างผู้นำและประชาชน ขณะไฟแค้นสุมอกผู้คนจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรังไม่จบสิ้น

การประท้วงปะทุขึ้นในแถบแอฟริกาเหนือเป็นแห่งแรกก่อนระบาดไปทั่วโลก ประชาชนตูนิเซียรวมพลังขับไล่ซิเน เอล อาบีดีน เบน อาลี อดีตประธานาธิบดีที่คิดครองตำแหน่งตลอดชีวิต ได้สำเร็จตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นผลให้เกิดการลุกฮือต่อต้านอำนาจเผด็จการไปทั่วโลกอาหรับ เช่น อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน

ต่อมา ความไม่สงบก็อุบัติขึ้นในฟากฝั่งกลุ่มประเทศร่ำรวย หลังประชาชนชาวยุโรปส่วนหนึ่งหมดความอดทนกับปัญหาว่างงาน ความโกลาหลในโลกเศรษฐกิจ และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของรัฐบาล

วันที่ 15 พฤษภาคม ชาวสเปนก้าวสู่ยุคแห่งการประท้วง โดยเริ่มการชุมนุม “อินดิกนาดอส” เคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่และมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล มิหนำซ้ำยังมีปัญหาการคอร์รัปชันเป็นเรื่องร้อนอีกหนึ่งประเด็น

จัตุรัสปูเอร์ตา เดล ซอล กลางกรุงมาดริด กลายเป็นศูนย์การชุมนุม มีการปักหลักตั้งเต็นต์ชุมนุมต่อเนื่อง กระทั่งมีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึง 200,000 คน ในเดือนมิถุนายน แกนนำการชุมนุมเหล่านี้ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน

กลุ่มผู้ประท้วง “อินดิกเนนต์” ที่ถูกกระตุ้นจากอินดิกนาดอสของสเปน เริ่มชุมนุมใหญ่ในกรีซ วันที่ 25 พฤษภาคม ขณะกรุงเอเธนส์กำลังเผชิญวิกฤตหนี้สินสาธารณะ และประชาชนขาดความเชื่อมั่นในน้ำยาของ ส.ส.
กลุ่มอ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท ชุมนุมในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (7) ต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
หลังจากนั้น กระแสการประท้วงเศรษฐกิจชาติก็แผ่ลามไปถึงสหรัฐฯ โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “อ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท” ปักหลักชุมนุมในนครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ครั้งนี้แกนนำการชุมนุมก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผสมโรงกับนักเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์

อนึ่ง แม้การประท้วงในยุโรปและสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นไปโดยสันติ ไม่มีเหตุนองเลือดเหมือนการขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับ ทว่า การประท้วงในโลกตะวันตกก็เต็มไปด้วยความสิ้นหวังต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อความเห็นระหว่างสามัญชนกับนักการเมืองหรือผู้กุมเศรษฐกิจแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

อังกฤษก็เผชิญกับเหตุความไม่สงบครั้งใหญ่ด้วยรูปแบบที่แตกต่างออกไปในเดือนสิงหาคม เกิดการปลุกระดมให้เยาวชนออกมาปล้มสะดม และก่อความวุ่นวายทั่วกรุงลอนดอนและเมืองใหญ่อื่นๆ ผ่านการติดต่อทางทวิตเตอร์ จนถึงเวลานี้ ทางการอังกฤษยังไม่มีข้อสรุปว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเหมือนประเทศอื่นๆ เป็นแรงขับด้วยหรือไม่

ในเดือนกันยายนนั้นเอง ชาวอิสราเอลกว่า 400,000 คน เดินขบวนครั้งใหญ่ไปตามท้องถนนกรุงเทลอาวีฟจากปัญหาค่าครองชีพ ขณะเดียวกัน กลุ่มอ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท เริ่มระบาดไปทั่วรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ และข้ามประเทศไปถึงแคนาดา ลอนดอน ไปไกลถึงนครซิดนีย์

กลุ่มอ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท อ้างตนว่า เป็นตัวแทนของคน “99 เปอร์เซ็นต์” ต่อสู้กับอภิมหาเศรษฐีที่มีเพียง “1 เปอร์เซ็นต์” และชนะใจประชนส่วนใหญ่จากผลโพลที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้ เมื่อวันอังคาร (6) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ปราศรัยหาเสียงในรัฐแคนซัส โดยมีเนื้อหาใกล้เคียงกับสิ่งที่อ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท พูดมาตลอดว่า “พื้นฐานของชาติอเมริกันกำลังถูกกัดกร่อน ... พวกที่ร่ำรวยจากการลงทุนยิ่งรวยไปกันใหญ่”

ทั้งนี้ รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนทั่วโลกกำลังทิ้งห่างกันมากที่สุดในรอบ 30 ปี โดยอังกฤษและเม็กซิโกเป็นสองชาติที่มีปัญหานี้รุนแรงที่สุด
นักศึกษาฟิลิปปินส์ชุมนุมประท้วงในกรุงมะนิลา เมื่อวันพุธ (7) หลังได้รับแรงกระตุ้นจากกลุ่มอ็อกคิวพาย วอลล์สตรีท ในสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น