xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯรำลึกครบรอบ 70 ปี เหตุโจมตี “เพิร์ล ฮาร์เบอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือรบ ยูเอสเอส แคลิฟอร์เนีย กำลังจมสู่ก้นทะเล หลังถูกโจมตีที่อ่าวเพิร์ล (ภาพ: วิกิพีเดีย)
เอเอฟพี - สหรัฐฯจัดพิธีรำลึกครบ 70 ปี แห่งการโจมตีอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) วันนี้(7) โดยประกาศให้หน่วยงานของรัฐลดธงครึ่งเสา และมีการยืนสงบนิ่งในช่วงเวลาซึ่งเคยเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว

พิธีรำลึกจัดขึ้นบริเวณอ่าวเพิร์ล ในมลรัฐฮาวาย และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ เพื่อรำลึกถึงทหารอเมริกัน 2,400 นาย ที่เสียชีวิตระหว่างกองทัพญี่ปุ่นโจมตีกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯแบบสายฟ้าแลบ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา มีคำสั่งให้อาคารสำนักงานของรัฐทั่วประเทศลดธงชาติลงครึ่งเสา เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว

โอบามา มีถ้อยแถลงต่อชาวอเมริกันวานนี้ (6) ว่า “ในเช้าวันอาทิตย์ที่อากาศแจ่มใส เมื่อ 70 ปีก่อน ท้องฟ้าเหนืออ่าวเพิร์ล กลับถูกปกคลุมด้วยสีดำของควันระเบิด หลังจากทหารญี่ปุ่นบุกโจมตีเราอย่างไม่คาดฝัน ซึ่งเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของกองทัพอเมริกัน และเจตนารมณ์ของประเทศเรา”

“หลังจากอ่าวเพิร์ลและกองเรือแปซิฟิกถูกทิ้งระเบิด มีบางคนกล่าวว่า สหรัฐฯในวันนั้นถูกลดระดับลงเป็นแค่มหาอำนาจชั้น 3”

“แต่แทนที่จิตวิญญาณของเราจะถูกทำลายไป มันกลับทำให้อเมริกันชนสามัคคีกันมากขึ้น และยิ่งมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา ชาวอเมริกันผู้รักชาติต่างขานรับที่จะปกป้องวิถีชีวิตของเราเองไว้ ทั้งในบ้านของเรา และในต่างแดน”

วันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941 เวลา 07.55 น.ญี่ปุ่นปลุก “ยักษ์ใหญ่ผู้หลับใหล” อย่างอเมริกาให้ตื่นขึ้น โดยทิ้งระเบิดใส่กองเรือแปซิฟิกที่ทอดสมออยู่ในอ่าวเพิร์ล

เรือรบสหรัฐฯกว่า 20 ลำจมดิ่งลงก้นทะเล และเครื่องบินอีก 164 ลำ ถูกทำลายย่อยยับ ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง

ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น นำสหรัฐฯเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว ในขณะซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากเคยหวังว่าจะหลีกเลี่ยงสงครามครั้งนี้ไปได้

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสนอ “ทฤษฎีสมคบคิด” ซึ่งเชื่อว่า ประธานาธิบดี รูสเวลต์ ทราบข่าวกรองล่วงหน้า ว่า ญี่ปุ่นจะโจมตีอ่าวเพิร์ล ทว่า จงใจปล่อยให้เหตุร้ายเกิดขึ้นโดยไม่เตรียมป้องกัน เพราะหวังว่าการโจมตีจะสร้างความตกตะลึง และโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันเห็นความจำเป็นของการเข้าร่วมสงคราม

แนวคิดเช่นนี้มีที่มาจากการที่เรดาร์กองทัพสหรัฐฯไม่สามารถตรวจจับเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำของญี่ปุ่น พร้อมกับเครื่องบิน 400 ลำ ซึ่งลอยลำอยู่ห่างจากเป้าหมายเพียง 350 กิโลเมตร

แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร เพียง 1 วันหลังเกิดเหตุ สภาคองเกรสได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ และเยอรมนีประกาศสงครามกับสหรัฐฯในอีก 3 วันต่อมา

การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐฯ ทำให้ทิศทางความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น