เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่นเริ่มเรียนภาษา “หอยนางรม” อันเป็นความพยายามเพื่อหาความจริงว่า สัตว์พวกนี้พูดถึงอะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของพวกมัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคากาวะกำลังจับตาดูการเปิดปิดฝาตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล เช่น ปริมาณออกซิเจนลดลง หรือเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากการเพิ่มจำนวนของสาหร่าย ซึ่งทำให้หอยตายเป็นจำนวนมาก
นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ใช้อุปกรณ์ที่ตั้งชื่อเล่นให้ว่า “ไค-ลิงกวล” ซึ่งเล่นคำว่า ไค ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า หอย เพื่อต้องการดูว่าพวกเขาจะสามารถถอดรหัสจากการเคลื่อนไหวของหอยนางรม ซึ่งอาจเตือนภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่
เจ้าไค-ลิงกวลนี้ใช้เซนเซอร์ และแม่เหล็กในการส่งข้อมูลการเปิด-ปิดฝาหอยตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งเทคนิคนี้ไม่เคยมีการนำไปใช้กับหอยนางรมเพื่อเป็นอาหาร แต่ชาวประมงผู้เลี้ยงหอยมุกเเคยใช้มาก่อนแล้ว
ซึเนโอะ ฮอนโจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิภาคทะเลเซโตของมหาวิทยาลัยดังกล่าวเผยว่า “ด้วยอุปกรณ์ไค-ลิงกวล เราสามารถได้ยินเสียงกรีดร้อง เช่น เวลาที่เราทรมานเพราะหายใจไม่ออกได้”
เขาเสริมว่า หอยมุกจะถูกนำไปวางไว้ในฟาร์มหอยนางรมที่เป็นเครือญาติกัน เพื่อที่พวกมันจะทำหน้าที่เหมือน “ล่าม” ในการเตือนถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงในท้องทะเลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
“เราได้ดำเนินการพิสูจน์บทสนทนากับหอยมุกแล้วอย่างแม่นยำตลอดหลายปีที่วิจัยมา พวกมันจะแปลปฏิกิริยาของหอยนางรมให้กับพวกเราในโครงการนี้” ฮอนโจกล่าว
เขาระบุว่า การวิจัยนี้เริ่มต้นในเดือนตุลาคม และจะสิ้นสุดช่วงฤดูเก็บผลผลิตในเดือนมีนาคม