เอเอฟพี - อัตราการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 40 ล้านไร่) ต่อปี ยูเอ็นรายงานวันนี้ (30) จากสำรวจผืนป่าที่ครอบคลุมทั่วโลกมากที่สุด แต่ในเอเชียกลับมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปลูกป่าทดแทน โดยเฉพาะในจีน
การสำรวจป่าขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) หนนี้เป็น “ครั้งแรก” ที่มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยสำรวจ โดยผลการสำรวจพบว่า ระหว่างปี 1990-2000 ผืนป่าถูกทำลาย 4.1 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 25 ล้านไร่) ต่อปี และการทำลายป่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 40 ล้านไร่) ระหว่างปี 2000-2005
เอฟเอโอ อธิบายว่า เพราะฉะนั้น ระหว่างปี 1990-2005 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าเฉลี่ย 4.9 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 30 ล้านไร่) ต่อปี หรือคิดเป็น 10 เฮกเตอร์ (ประมาณ 62.5 ไร่) ต่อนาที ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการบุกรุกแผ้วถางป่าเขตร้อน เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 15 ปีดังกล่าว ป่าทั่วโลกถูกทำลายเพียง 72.9 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 455 ล้านไร่) ต่ำกว่าผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ว่า ระหว่าง 1990-2005 มีป่าถูกทำลายไป 107 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 670 ล้านไร่)
นักวิจัยของเอฟเอโออาศัยภาพถ่ายดาวเทียมจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) โดยสรุปสถานการณ์ด้วยแนวโน้มที่ดีว่า ปัจจุบันโลกเหลือพื้นที่ป่า 30.3 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2005 ซึ่งมีป่าอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์
รัสเซีย บราซิล แคนาดา สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อินโดนีเซีย เปรู และ อินเดีย เป็นประเทศที่เหลือพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลกเรียงตามลำดับ โดยพื้นที่ป่าของประเทศใน 5 อันดับแรก รวมกันคิดเป็นผืนป่ามากกว่าครึ่งโลก
“เราพบอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงสุดในป่าเขตร้อน” อดัม เจอร์รันด์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเอฟเอโอ กล่าว “ยังมีการตัดไม้ทำลายป่าในเอเชีย แต่ก็มีการปลูกต้นไม้ทดแทนมากกว่าจำนวนป่าที่เสียไป” โดยเฉพาะในจีน ดังนั้น จำนวนผืนป่าจึงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) จัดทำรายงานฉบับนี้ด้วยความร่วมมือจากนักวิจัยมากกว่า 200 คน จาก 102 ประเทศ ทั่วโลก