xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าสัวธนินท์” ครองตำแหน่ง “นักธุรกิจแห่งปี 2011” ของนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เจ้าสัวธนินทร์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย คว้าตำแหน่ง “นักธุรกิจแห่งปี 2011” จากนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย
ฟอร์บส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย ยกย่อง “เจ้าสัวธนินท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ครองตำแหน่ง “นักธุรกิจแห่งปี 2011” ด้วยธุรกิจภาคการเกษตรที่เริ่มจากร้านค้าเมล็ดพันธุ์ในย่านเยาวราช กระทั่งเติบโตเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งแผนการลงทุนระยะยาวในจีน และความทุ่มเทช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทย

เครือข่ายกิจการทั่วโลกของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ เริ่มต้นจากร้าน “เจียไต๋” ธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ ที่ลุงและบิดาผู้อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ของเขาก่อตั้งขึ้นในย่านเยาวราช ตั้งแต่ปี 1921 ต่อมามีการตั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เมื่อปี 1946 โดยตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ซีพีได้ขยายกิจการจากการค้าเมล็ดพันธุ์ สู่ธุรกิจอาหาร และฟาร์มเกษตรโดยสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ แม้เป็นลูกชายคนสุดท้องในบรรดาบุตรชาย 5 คน แต่ด้วยพรสวรรค์ด้านธุรกิจ นายธนินท์ เจียรวนนท์ จึงได้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นบิดา ด้วยอายุเพียง 30 ปี

จากร้านค้าเมล็ดพันธุ์พืชที่เปิดประตูต้อนรับลูกค้าครั้งแรกเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นเครือข่ายผู้ผลิตอาหารและเนื้อสัตว์รายใหญ่ระดับโลก ซีพีมีเครือข่ายสาขาใน 17 ประเทศ ส่งออกไปยัง 40 ประเทศ และอาจมีรายได้สูงถึง 33,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 990,000 ล้านบาท) ภายในปีนี้ “เราต้องการเป็นครัวโลก” คือ คำขวัญที่เจ้าสัวธนินท์ในวัย 72 ปี ตั้งไว้

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซีพี สบโอกาสการลงทุนในจีน ขณะที่กรุงปักกิ่งก็ตั้งเป้าพัฒนาภาคส่วนเกษตรกรรมของประเทศ เจ้าสัวธนินท์ ทุ่มทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ที่จะผลิตไข่ ไก่ และอาหารในจีน นอกเหนือจากเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น ไทซันฟูดส์, มอนซานโต, คาร์กิลล์, โฮป กรุ๊ป และ นูทราโก ก็มีส่วนในความสำเร็จของการปฏิรูประบบการผลิต การบรรจุ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในจีนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนบนดินแดนบรรพบุรุษในจีนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ เจ้าสัวธนินท์ นักธุรกิจหัวใสรายนี้บุกตลาดจีนตั้งแต่ปี 1979 สมัยที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เดินเครื่องปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ ซีพีได้สร้างฟาร์มเกษตรและฟาร์มไก่หลังแรก กระทั่งมีอีกหลายสิบโครงการตามมา ปัจจุบัน ยอดขายกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของซีพีก็อยู่ในจีน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ยังมีแนวคิดสร้างฟาร์มเกษตรในจีนขึ้นใหม่ โดยยึดหลักการที่เคยได้ผลในไทยเมื่อ 30 ปีก่อน กล่าวคือ ซีพีได้ซื้อที่ดิน 500 เอเคอร์ (ประมาณ 1,200 ไร่) และปล่อยเช่าแก่เกษตรกรชาวจีนผู้ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งมีการฝึกอบรมเกษตรกรจีน ให้การสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัย และเมล็ดพันธุ์ จนในที่สุดเกษตรกรเหล่านี้จะสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีผลกำไรจากการทำฟาร์มหมู เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แนวคิดของเจ้าสัวธนินท์บนดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลที่มีประชากร 700 ล้านคน จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ แม้จะทุ่มเทกับแผนการลงทุนระยะยาวในจีน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ชาวไทยกำลังประสบวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 600 คน เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่คอยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะด้านอาหาร เพื่อช่วยให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น