เอเอฟพี / รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กำชัยชนะในเกมการทูตเหนือปักกิ่งในทริปเยือนแปซิฟิกรวม 9 วันคราวนี้ หลังประสบความสำเร็จสามารถชักนำเอาประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เข้าสู่ที่ประชุม “อีสต์ เอเชีย ซัมมิต” ที่บาหลี ท่ามกลางการขวางลำเต็มที่ของจีนซึ่งมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในและจงใจท้าทายอิทธิพลของจีนในย่านนี้
การพูดคุยกันอย่าง “ตรงไปตรงมา” เกี่ยวกับประเด็นพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกซึ่งจัดบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีขึ้นหลังจากที่สองมหาอำนาจของโลกจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แลกหมัดตอบโต้กันชนิดดุเดือดขึ้นทุกทีตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว
แคมเปญใหม่ทางการทูตของวอชิงตันในการจะผลักดันตนเองให้หวนกลับมาธำรงบทบาทมหาอำนาจแห่งย่านแปซิฟิก นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงจีนอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งพิจารณาความเคลื่อนไหวริเริ่มใหม่ๆ ของสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างกรณีที่ประกาศจะจัดตั้งฐานทัพนาวิกโยธินในเมืองดาร์วิน ทางเหนือของออสเตรเลียนั้นว่า เป็นการรุกล้ำย่างกรายเขตอิทธิพลของจีน
ก่อนหน้าอีสต์ เอเชีย ซัมมิตจะเปิดฉากขึ้น นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีน ได้กล่าวเตือนกรณีการแทรกแซงโดย “กองกำลังจากภายนอก” ในเหตุทะเลาะวิวาททางทะเล เหนือพื้นที่สำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหลายชาติในภูมิภาคได้อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่แห่งนี้
ทว่า หลังจากที่จัดให้มีการหารือนอกรอบระหว่างประธานาธิบดีโอบามา กับนายกฯ เวิน ที่บาหลี ก็ปรากฏว่า กลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมประชุมอีสต์ เอเชีย ซัมมิต ต่างพูดคุยถกเถียงกันอย่างเถรตรงไม่อ้อมค้อมเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางทะเล ตลอดจนเรื่องทะเลจีนใต้ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งภายในรัฐบาลสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่รายนี้ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม บอกว่า โอบามารู้สึกฮึกเหิมจากที่ประชุมคราวนี้ และโทนของมันก็ “เป็นไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้น” ด้วย
เขาเปิดเผยต่อไปว่า ไม่มีถ้อยคำเผ็ดร้อนยืดยาวมาจากทางฝั่งเวิน พร้อมกับบอกด้วยว่า “ถึงแม้ บางทีเขา (เวิน) เริ่มจะแสดงอาการไม่พอใจบ้างเล็กน้อย ทว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว เขาก็สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีมาก”
ขณะที่สื่อทางการของจีน ชี้ว่า เวิน ตอบรับแบบฝืนใจที่จะให้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นวาระหนึ่งของการประชุมอีสต์ เอเชีย ซัมมิต หนนี้ ทั้งนี้ที่ประชุมดังกล่าวประกอบด้วย 18 ประเทศสมาชิก อันได้แก่ อาเซียน 10 ชาติ บวก จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สหรัฐฯ, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และอินเดีย
“ผมไม่ต้องการจะถกประเด็นนี้ที่ซัมมิตคราวนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้นำจากบางประเทศได้กล่าวอ้างถึงจีนต่อประเด็นปัญหานี้ และมันก็เป็นการไม่สุภาพที่ไม่มอบคืนสิ่งนั้นแก่ผู้ที่ให้มา” สำนักข่าวซินหวาอ้างคำพูดของเวิน
“ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งที่สำคัญของจีน, ของหลายประเทศในภูมิภาค หรือแม้แต่สำหรับโลก รัฐบาลจีนได้อุทิศตนเสียสละในทางบวกเพื่อจะคุ้มครองความปลอดภัยในการเดินเรือในทะเลจีนใต้” เวิน กล่าวเสริม
นายกฯ เวิน ระบุว่า ปัญหาทะเลจีนใต้ควรได้รับการสะสางโดยตรงในหมู่ประเทศอธิปไตยที่เกี่ยวข้อง “โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเจรจาต่อรองอย่างเป็นมิตร”
ทั้งนี้จีน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่สมุทรเกือบจะทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ยืนกรานมาตลอดว่าต้องการจะเจรจาข้อพาทดังกล่าวกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่กรณีแบบทวิภาคีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สหรัฐฯ ทำให้โลกเห็นว่าวอชิงตันเป็นฝ่ายชนะในเกมยกนี้ เนื่องจากสามารถนำประเด็นดังกล่าวบรรจุเป็นหัวข้อหารือในเวทีประชุมนานาชาติซึ่งถือเป็นระดับพหุภาคีได้สำเร็จ
อนึ่ง นอกจากจีนแล้ว ไต้หวันก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเช่นเดียวกัน ขณะที่เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และบรูไน อ้างกรรมสิทธิ์เป็นบางส่วน