xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาUSส่งคกก.ตรวจสอบ “หัวเว่ย-ZTE” เสี่ยงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงปท.หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลโก้บริษัท หัวเว่ย และ แซดทีอี สองยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของโลกสัญชาติจีน
วอลล์สตรีท เจอร์นัล / เอเอฟพี - รัฐสภาของสหรัฐฯ ส่งคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองลงตรวจสอบว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมชั้นนำของโลกสัญชาติจีน ตลอดจนบริษัทด้านโทรคมนาคมรายอื่นๆ จากแดนมังกร จะเป็นต้นตอนำไปสู่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกาหรือไม่ ในขณะที่บริษัทเหล่านี้มีความจำนงต้องการจะขยายตลาดและสร้างแบรนด์บนแผ่นดินของสหรัฐฯ

การตรวจสอบปัญหาดังกล่าวโดยคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คราวนี้ นับเป็นการตอกย้ำความพยายามของสหรัฐฯ ที่ต้องการใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจเป็นไปได้ต่อประเทศของพวกเขา โดยเฉพาะจากบริษัทสัญชาติจีนอย่าง หัวเว่ย (Huawei) และ แซดทีอี คอร์ปอเรชัน (ZTE Corporation) ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมระดับท็อป 5 ของโลก โดยรายแรกเป็นรองเพียง อีริกสัน ของสวีเดนเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกกังวลร่วมกับบรรดาสมาชิกรัฐสภาว่า การที่บริษัทเหล่านี้เข้ามาขยายกิจการในสหรัฐฯ นั้น อาจกลายเป็นการสร้างฐานที่มั่นให้แก่จีนสำหรับการสืบราชการลับหรือการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกภายในอเมริกาได้

“พวกเราคิดว่า มีเหตุผลอันสมควรที่จะต้องทำการตรวจสอบหาความจริงชนิดเต็มรูปแบบ” ส.ส.ไมค์ โรเจอร์ส สังกัดพรรครีพับลิกัน ประธานคณะกรรมาธิการชุดตรวจสอบดังกล่าว ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล “พวกเราวิตกกังวลต่อความมั่นคงของชาติอย่างยิ่งยวด เกี่ยวกับ หัวเว่ย, แซดทีอี ตลอดจนบริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ และพวกเราก็จำเป็นจะต้องทำการสอบสวนอย่างครอบคลุมทุกด้านด้วยการใช้ทรัพยากรบุคคลของพวกเราทั้งหมดในฐานะของคณะกรรมาธิการ”

โรเจอร์ส ระบุว่า ตอนนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ลงตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งก็รวมถึงขั้นตอนการสรุปรายงานย่อ และการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง

กระบวนการตรวจสอบจะดูว่า บริษัทจีนจะสามารถจัดหาส่วนประกอบให้แก่ระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ได้อย่างไร ตลอดจนความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อเมริกันหวั่นเกรงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ของบริษัทเหล่านี้ และแกะรอยโทรศัพท์ หรืออีเมล ตลอดจนส่งคลื่นสัญญาณรบกวน และทำลายระบบการสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมก็เตือนว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่การเข้าถึงเหล่านี้จะกลายเป็นช่องทางสำคัญในการแอบดักฟังโทรศัพท์ หรือขัดขวางการรับส่งอีเมลระหว่างบริษัทคู่แข่งด้านเทคโนโลยีรายอื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิลเลียม พลัมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์นอกประเทศของหัวเว่ย ระบุว่า อุปกรณ์ของบริษัทเขาได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายโดยบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่มากถึง 45 ราย จาก 50 อันดับแรกทั่วโลก โดยที่ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยเลย

“นี่ไม่เกี่ยวกับหัวเว่ย” เขากล่าว “หัวเว่ยมีความยินดีสำหรับการพิจารณาทบทวนอย่างเปิดเผยและยุติธรรม ต่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบเครือข่าย อันมีสาเหตุจากห่วงโซ่อุปทานโลกที่พึ่งพากันและกัน”

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงวันนี้ (18) เรียกร้องรัฐบาลสหรัฐฯ อย่าทำให้การค้ากลายเป็นประเด็นทางการเมือง

“การลงทุนของจีนในสหรัฐฯ สามารถช่วยกระตุ้นการจ้างงาน ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ และเราก็หวังว่า ฝ่ายสหรัฐฯ จะไม่ทำให้การค้ากลายเป็นประเด็นทางการเมือง” หลิว เหว่ยหมิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของแดนมังกร กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น