เอเอฟพี - พื้นที่การเกษตรบางแห่งในญี่ปุ่นไม่ปลอดภัยสำหรับการเพาะปลูกอีกต่อไป เนื่องจากพบกัมมันตภาพรังสีสะสมในดินในปริมาณสูงมาก ทีมนักวิทยาศาสตร์เผย วันนี้(15)
ผลการศึกษาโดยคณะนักวิจัยนานาชาติ นำโดย เท็ปเปอิ ยาสุนาริ จากสมาคมมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยด้านอวกาศ (USRA) ในมลรัฐแมริแลนด์ของสหรัฐฯ ระบุว่า การผลิตอาหารจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากรังสีซีเซียมที่พบในตัวอย่างดินทั่วทั้งจังหวัดฟูกูชิมะ อันเป็นผลจากการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเสียหายจากคลื่นสึนามิ
ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ลงวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดใกล้เคียงก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แม้รังสีที่พบจะยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยก็ตาม
“จังหวัดฟูกูชิมะทั้งจังหวัดมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนสูงมาก” โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คณะนักวิจัยเผย
การศึกษาชิ้นนี้มุ่งตรวจสอบปริมาณรังสีซีเซียม-137 ซึ่งมีครึ่งชีวิตถึง 30 ปี และหมายความว่าภัยพิบัติครั้งนี้จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นไปอีกนานหลายทศวรรษ
ค่ารังสีซีเซียม -134 และซีเซียม -137 สูงสุดที่กฎหมายอนุญาตสำหรับนาข้าวในญี่ปุ่น อยู่ที่ไม่เกิน 5,000 เบคเคอเรลต่อดิน 1 กิโลกรัม
“ฝั่งตะวันออกของจังหวัดฟูกูชิมะมีรังสีเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ขณะที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น มิยางิ, โทจิกิ และอิบารากิ ก็พบรังสีเข้มข้นเกือบจะถึงเกณฑ์” ผลการศึกษา ระบุ
“การปนเปื้อนรังสีในฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นยังไม่รุนแรงมากนัก แม้บางจังหวัดจะได้รับผลกระทบพอสมควรก็ตาม”
“ในจังหวัดเหล่านี้ เราประเมินและวัดค่ารังสีได้ประมาณ 25 เบคเคอเรลต่อดิน 1 กิโลกรัม ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับพื้นที่การเกษตรมาก อย่างไรก็ดี เราแนะนำให้แต่ละจังหวัดเร่งตรวจตัวอย่างดินในแต่ละเมือง เพื่อยืนยันผลการวิจัยของเรา”
คณะนักวิจัยเผยว่า แหล่งผลิตอาหารในจังหวัดฟูกูชิมะฝั่งตะวันออกจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากพบรังสีซีเซียม-137 สูงถึง 2,500 เบคเคอเรลต่อดิน 1 กิโลกรัม ขณะที่จังหวัดใกล้เคียงเช่น อิวาเตะ, มิยางิ, ยามางาตะ, นีงาตะ, โทจิกิ, อิบารากิ และจิบะ ซึ่งวัดรังสีในดินได้ 250 เบคเคอเรลต่อดิน 1 กิโลกรัม ก็อาจผลิตอาหารได้ลดลงเช่นกัน