xs
xsm
sm
md
lg

‘ข้อมูลมั่ว’ในรายงานไอเออีเอว่าด้วย‘นิวเคลียร์อิหร่าน’

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

‘Soviet nuclear scientist’ a rough diamond
By Gareth Porter
10/11/2011

รายงานว่าด้วยอิหร่านของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ได้อ้างอิงระบุถึงอดีตนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์สหภาพโซเวียตผู้หนึ่ง โดยบอกว่าบุคคลผู้นี้กำลังช่วยอิหร่านสร้างระบบจุดระเบิดซึ่งสามารถนำมาใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ได้ แต่ปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ซึ่งแม้ไม่ได้ถูกใส่ชื่อเอาไว้ในรายงานของไอเออีเอ แต่ถูกระบุตัวโดยรายงานข่าวหลายๆ ชิ้น ว่า คือ เวียเชสลัฟ ดานีเลนโค ความจริงแล้วเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของโลกในเรื่องการผลิต “เพชรนาโน”โดยวิธีระเบิด

วอชิงตัน – รายงานของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ซึ่งถูกนำออกมาเผยแพร่โดยองค์กรคลังสมองในกรุงวอชิงตันรายหนึ่งเมื่อวันอังคาร(8)ที่ผ่านมา ได้พูดซ้ำอีกคำรบหนึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างอันหวือหวาที่สื่อมวลชนด้านข่าวทั่วโลกได้เคยรายงานกันมาก่อนแล้ว ข้อกล่าวหาดังกล่าวระบุว่า อดีตนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์สหภาพโซเวียตผู้หนึ่ง ได้ช่วยเหลืออิหร่านในการสร้างระบบจุดระเบิดซึ่งสามารถนำมาใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ได้

แต่แล้วกลับปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศผู้นั้น ซึ่งแม้มิได้ถูกใส่ชื่อเอาไว้ในรายงานของไอเออีเอ ทว่าถูกระบุตัวในรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายๆ สำนัก ว่าคือ เวียเชสลัฟ ดานีเลนโค (Vyacheslav Danilenko) บุคคลผู้นี้หาใช่นักวิทยาศาสตร์ด้านอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างไรไม่ หากแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปคนหนึ่งของโลกในเรื่องการผลิตเพชนาโน (nanodiamonds) ด้วยวิธีระเบิด

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ตั้งแต่ที่เขาเริ่มต้นทำงานอาชีพด้านการวิจัยเป็นต้นมา ดานีเลนโค ซึ่งเป็นชาวยูเครน ก็ปฏิบัติงานอยู่แต่เฉพาะในด้านเพชรนาโนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพชรนาโน ดังที่ได้รับการยืนยันรับรองจากผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หลายต่อหลายชิ้น

เวลานี้จึงดูเหมือนกับว่า ทั้ง ไอเออีเอ และ เดวิด อัลไบรต์ (David Albright) ผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ (Institute for Science and International Security) ในกรุงวอชิงตัน ผู้เป็นแหล่งข่าวของรายงานข่าวหลายๆ ชิ้นเกี่ยวกับ ดานีเลนโค ต่างก็ไม่เคยแยแสสนใจที่จะตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของการกล่าวอ้างทีแรกสุดในเรื่องนี้ ซึ่งกระทำโดย “รัฐสมาชิก” ไอเออีเอที่มิได้มีการเปิดเผยชื่อรายหนึ่ง ทั้งๆ ที่สำหรับไอเออีเอแล้ว การที่รายงานฉบับล่าสุดของหน่วยงานนี้ออกมาแสดงความมั่นอกมั่นใจเกี่ยวกับภูมิหลังด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอดีตนักวิทยาศาสตร์สหภาพโซเวียตผู้นี้ ก็โดยอิงอาศัยการกล่าวอ้างของ “รัฐสมาชิก” รายดังกล่าวนี้เอง

ขณะที่ทางด้านอัลไบรต์ ตามรายงานข่าวที่เขียนโดย โจบี วอร์ริก (Joby Warrick) ในวอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ได้ระบุเอาไว้ว่า ระหว่างที่อัลไบรต์ “บรรยายสรุปเป็นการส่วนตัว” ให้แก่ “พวกมืออาชีพทางด้านข่าวกรอง” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้ระบุชื่อ ดานีเลนโค ว่าคือผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศคนที่ได้รับการว่าจ้างจาก ศูนย์กลางวิจัยฟิสิกส์ (Physics Research Center) ของอิหร่านในช่วงกลางทศวรรษ 1990 อีกทั้งยังได้พูดถึง ดานีเลนโค ว่า เป็น “อดีตนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์สหภาพโซเวียต”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องราวของ ดานีเลนโค ก็แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

รายงานของ ไอเออีเอ ระบุว่า หน่วยงานแห่งนี้มี “เครื่องบ่งชี้อันหนักแน่นหลายๆ ประการ” เกี่ยวกับเรื่องที่อิหร่านกำลังพัฒนา “ระบบการจุดระเบิดความแรงสูง” ("high explosions initiation system) โดยที่ระบบดังกล่าวนี้ ไอเออีเอเรียกว่า เป็น “ระบบระเบิดภายใน” (implosion system) สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ รายงานยังบอกด้วยว่า อิหร่านพัฒนาระบบนี้ โดย “ได้รับความช่วยเหลือจากผลงานของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เพียงมีความรอบรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้เท่านั้น แต่ตามที่รัฐสมาชิกรายหนึ่งได้แจ้งต่อทางทบวงฯนั้น ในช่วงแห่งวัยทำงานอาชีพของบุคคลผู้นี้ เขาได้ทำงานอยู่นานทีเดียวในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศต้นกำเนิดของเขา”

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ของไอเออีเอ ไม่ได้เสนอหลักฐานอื่นใดอีก เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวอ้างว่า ดานีเลนโค เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบจุดระเบิด

เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐสมาชิกรายที่รายงานของไอเออีเอกล่าวอ้างถึง ทราบเรื่องที่ ดานีเลนโค เคยทำงานอยู่ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียว่าด้วยฟิสิกส์ทางเทคนิค (All-Russian Scientific Research Institute of Technical Physics) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง สเนซินสก์ (Snezhinsk), รัสเซีย ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตยังมิได้ล่มสลาย สถาบันแห่งนี้มีชื่อเสียงเลื่องเลือเกี่ยวกับผลงานการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ และรัฐสมาชิกรายหนึ่งรายนั้นก็เลยทึกทักเอาเองอย่างง่ายๆ ว่า ดานีเลนโค เคยเกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากทำการวิจัยสืบค้นเพิ่มมากขึ้น ก็จะเปิดเผยให้ทราบว่า ตั้งแต่ที่ ดานีเลนโค เริ่มต้นการทำงานอาชีพของเขาแล้ว เขาทำงานอยู่แต่ในฝ่ายซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการสังเคราะห์เพชร ของสถาบันแห่งนั้น ตัว ดานีเลนโค ได้เคยเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานช่วงแรกๆ ของวิชาการด้านนี้เอาไว้ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2006 โดยเขาบอกว่าเขาเป็น 1 ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ใน “กลุ่มพลศาสตร์ของก๊าซ” (gas dynamics group) ที่สถาบันนั้น โดยที่กลุ่มของเขาเป็น “กลุ่มแรกที่เริ่มต้นการศึกษาว่าด้วยการสังเคราะห์เพชรในปี 1960”

ข้อเขียนจากความทรงจำของ ดานีเลนโค เกี่ยวกับระยะแรกๆ แห่งการงานอาชีพของเขาดังกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในบทหนึ่งของหนังสือชื่อ “Ultrananocrystalline Diamond: Synthesis, Properties and Applications” ที่มี ออลกา เอ เชนเดโรวา (Olga A Shenderova) และ ดีเทอร์ เอ็ม กรืน (Dieter M Gruen) เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ในปี 2006

อีกบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้พูดถึงประวัติการจดสิทธิบัตรของรัสเซียในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเพชรนาโน รายละเอียดในเรื่องนี้เป็นหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า ศูนย์ที่ ดานีเลนโค ทำงานอยู่ในสถาบันแห่งนี้ ได้ทำการวิจัยพัฒนากระบวนการต่างๆ อันมีความสำคัญอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 1963 – 1966 โดยที่ในเวลาต่อมากระบวนการเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ตามศูนย์การผลิต “เพชรนาโนที่เกิดจากการจุดระเบิด” (detonation nanodiamond) หลายๆ แห่ง

ดานีเลนโค ออกจากสถาบันแห่งนี้เมื่อปี 1989 และเข้าไปร่วมงานกับ สถาบันว่าด้วยปัญหาด้านวัสดุศาสตร์ (Institute of Materials Science Problems) ในยูเครน ทั้งนี้ตามข้อเขียนของผู้เขียนหลายๆ รายในบทดังกล่าวของหนังสือที่อ้างแล้วข้างต้น

ผู้เขียนเหล่านี้ยังระบุว่า ความสำเร็จอันสำคัญของ ดานีเลนโค ได้แก่การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถทำการผลิตเพชรอัลตราดิสเพอร์สด์ (ultradispersed diamonds) เป็นจำนวนมากๆ ได้ ทั้งนี้ เพชรอัลตราดิสเพอร์สด์ คือ เพชรนาโนแบบหนึ่งนั่นเอง เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกนำไปใช้งานโดยบริษัท เอแอลไอที (ALIT company) ในเมือง จีโตมีร์ (Zhitomir), ยูเครน ต้องใช้ห้องควบคุมการระเบิดขนาดใหญ่ที่มีขนาดความจุ 100 ตารางเมตร และ ดานีเลนโค คือผู้ที่ออกแบบห้องควบคุมดังกล่าว

เริ่มตั้งแต่ปี 1993 ดานีเลนโค เป็นหัวหน้าใหญ่ (principal) ผู้หนึ่ง ในบริษัทที่มีชื่อว่า นาโนกรุ๊ป (Nanogroup) บริษัทแห่งนี้ตอนที่เริ่มต้นก่อตั้งนั้นมีสำนักงานอยู่ในยูเครน แต่ปัจจุบันอยู่ในกรุงปราก, สาธารณรัฐเช็ก ในเว็บไซต์ของบริษัทนาโนกรุ๊ปคุยอวดเอาไว้ว่า บริษัทมี “ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งที่สุด” ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องใน “การแนะนำเพชรนาโนสู่โลกในปี 1960 และการนำเพชรนาโนมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 2000”

บริษัทแห่งนี้ประกาศจุดมุ่งหมายของตนว่า เพื่อซัปพลายเพชรนาโนสนองความต้องการในทั่วโลก

ทางด้านอิหร่านนั้นก็มีแผนงานเชิงรุกที่จะพัฒนาภาคเทคโนโลยีนาโน (nanotechnology) ของตนขึ้นมา โดยที่จุดเน้นสำคัญประการหนึ่งในเทคโนโลยีด้านนี้ของอิหร่าน ก็คือ เพชรนาโน ดังที่บล็อกเกอร์ซึ่งใช้ชื่อว่า “มูน ออฟ แอละแบมา” (Moon of Alabama) ได้ชี้ให้เห็น ทั้งนี้บล็อกแห่งนี้เองเป็นแหล่งแรกที่เรียกร้องให้เอาใจใส่สนใจภูมิหลังทางด้านเพชรนาโนของ ดานีเลนโค

ดานีเลนโค อธิบายเอาไว้อย่างกระจ่างชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของงานของเขาในอิหร่าน คือการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเพชรนาโนในประเทศนั้น

ในรายงานของไอเออีเอก็ระบุเอาไว้เช่นกันว่า “ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ” คนดังกล่าว อยู่ในอิหร่านตั้งแต่ปี 1996 จนกระทั่งถึงประมาณปี 2002 โดย “แสดงต่อภายนอกว่ามาช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาสถานที่และเครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ สำหรับการทำ เพชรอัลตราดิสเพอร์สด์ (ultra dispersed diamonds ใช้อักษรย่อว่า UDDs) หรือ เพชรนาโน” แต่จากการใช้ถ้อยคำเช่นนี้ ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า ไอเออีเอมีความเข้าใจว่าเรื่องเพชรนาโนเป็นเพียงฉากอำพรางวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเ ดานีเลนโค ในอิหร่าน

รายงานของไอเออีเอกล่าวด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ “ยังไปเล็กเชอร์ว่าด้วยฟิสิกส์แห่งระเบิด (explosive physics) ตลอดจนการนำเอาหลักการเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้” โดยที่รายงานไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ อีกว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องใดได้บ้าง

ข้อเท็จจริงที่ว่า ไอเออีเอ และ อัลไบรต์ ต่างก็น่าจะตระหนักรับรู้เกี่ยวกับงานด้านเพชรนาโนของ ดานีเลนโค ในอิหร่าน ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะยอมเชื่อถือการกล่าวอ้างเกี่ยวกับ “อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต” ด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยิ่งทำให้มองเห็นความบกพร่องผิดพลาดของพวกเขา จากการที่พวกเขาล้มเหลวมิได้ทำการสืบสาวตรวจสอบอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับภูมิหลังของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้

เรื่องราวว่าด้วยนักวิทยาศาสตร์ด้านอาวุธนิวเคลียร์ชาวรัสเซียผู้หนึ่ง กำลังช่วยสร้าง “ระบบระเบิดภายใน” เพื่อใช้ในอาวุธนิวเคลียร์เช่นนี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือการฉายซ้ำครั้งล่าสุดของโครงเรื่องที่ ไอเออีเอ ได้นำเสนอเอาไว้ในรายงานฉบับเดือนพฤษภาคม 2008 ของตน ทั้งนี้ในรายงานฉบับนั้น ไอเออีเอได้อ้างอิงถึงเอกสารความยาว 5 หน้าฉบับหนึ่ง ที่บรรยายการทดลองเกี่ยวกับ “ระบบจุดระเบิดทีเดียวหลายๆ จุดอย่างซับซ้อน เพื่อทำการระเบิดวัตถุระเบิดแรงสูงจำนวนมากในรูปเรขาคณิตแบบครึ่งวงกลม (hemispherical geometry) ตลอดจนวิธีการในการเฝ้าติดตามการระเบิดดังกล่าว

อิหร่านนั้นยอมรับว่า ตนกำลังใช้อุปกรณ์จุดระเบิด “exploding bridge wire” ดังเช่นที่ถูกอ้างอิงเอาไว้ในเอกสารดังกล่าว โดยใช้ทั้งในกิจการทางทหารและทางพลเรือน แต่อิหร่านก็ประณามว่า เอกสารชิ้นนั้น รวมไปถึงเอกสารชิ้นอื่นๆ ซึ่งถูกรวบรวมขึ้นมาโดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาที่มาจากแผนงานวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น ล้วนแต่เป็นเอกสารเท็จที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมา

เมื่อทำการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ประดาเอกสารที่ถูกระบุว่าเป็นผลการศึกษาของอิหร่านเหล่านี้ กลับปรากฏว่ามีลักษณะที่ไม่กลมกลืนสอดคล้องกัน ตลอดจนมีความไม่ปกติอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นของปลอมของหลอกลวง กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าไอเออีเอ, สหรัฐอเมริกา, และพันธมิตรของอเมริกาในไอเออีเอ ต่างยังคงปฏิบัติต่อเอกสารเหล่านี้ เสมือนกับไม่ได้มีปัญหาใดๆ ชวนให้สงสัยว่ามันเป็นของจริงหรือไม่

สำหรับรัฐสมาชิกที่ไม่มีการระบุชื่อ ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จที่ว่า ดานีเลนโค เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตนั้น แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าจะต้องเป็นอิสราเอล โดยที่อิสราเอลก็เป็นแหล่งที่มาของประดาสิ่งที่อ้างกันว่าเป็นข่าวกรองว่าด้วยการดำเนินการทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

อิสราเอลนั้นไม่เคยปิดบังเลยว่า ตนเองมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีอิทธิพลเหนือประชามติโลกในเรื่องแผนงานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ด้วยการเผยแพร่แจกจ่ายข้อมูลข่าวสารไปยังรัฐบาลต่างๆ และองค์การสื่อมวลชนด้านข่าวทั้งหลาย รวมทั้งการเผยแพร่สิ่งที่ถูกอ้างว่าเป็นเอกสารของรัฐบาลอิหร่านด้วย พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของอิสราเอล ได้บอกกับนักหนังสือพิมพ์ 2 คน คือ ดักลาส ฟรานซ์ (Douglas Frantz) และ แคเธอรีน คอลลินส์ (Catherine Collins) ว่า ในองค์การข่าวกรอง “มอสสาด” (Mossad) ของอิสราเอลนั้น มีแผนกพิเศษซึ่งทำหน้าที่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยที่เป็นช่วงเวลาซึ่งสอดคล้องกันกับระยะที่มีเอกสารปลอมต่างๆ ถูกผลิตออกมาพอดี

นอกจากนั้นแล้ว หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่บ่งชี้ว่าอิสราเอลเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเผยแพร่เอกสารปลอม ปรากฏอยู่ในคำให้สัมภาษณ์ในเดือนกันยายน 2008 ซึ่ง อัลไบรต์ กล่าวว่า โอลลี ไฮโนเนน (Olli Heinonen) ที่เวลานั่นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการเพื่อการคุ้มครองป้องกัน (deputy director for safeguards) อยู่ที่ไอเออีเอ ได้บอกกับเขาว่า เอกสารชิ้นหนึ่งจากรัฐสมาชิกรายหนึ่ง ทำให้เขาเชื่อสนิทว่า พวกเอกสารที่ระบุว่าเป็นผลการศึกษาของอิหร่านเหล่านั้นคือของแท้แน่นอน อัลไบรต์กล่าวด้วยว่า รัฐดังกล่าว “อาจจะเป็นอิสราเอล”

ทางด้าน ยาคอฟ คาซ (Yaakov Katz) ของหนังสือพิมพ์เยรูซาเลมโพสต์ (Jerusalem Post) ของอิสราเอล ก็ได้รายงานข่าวในวันพุธ(9)ว่า พวกหน่วยงานข่าวกรองของอิสราเอลได้ “จัดหาข้อมูลข่าวสารอันสำคัญยิ่งยวดซึ่งถูกนำมาใช้ในรายงาน (ของไอเออีเอ)” โดยที่วัตถุประสงค์ของการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ไอเออีเอก็คือ “ผลักดันให้มีการออกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อกรุงเตหะราน”

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น