บลูมเบิร์ก บิซิเนส วีก/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นางสายใจ สุกใส แม่ค้าแผงลอยริมถนนสุขุมวิท ฆ่าเวลายามไร้ลูกค้าด้วยจัดเรียงเสื้อยืดที่ประทับตราเฟอร์รารี และราล์ฟ ลอเรน ซ้ำไปซ้ำมา ช่วงนี้ แผงลอยของเธอไม่มีลูกค้ามากนัก หลังจากวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เว็บไซต์นิตยสารบลูมเบิร์ก บิซิเนส วีก เสนอผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยผ่านบทความ “Bangkok Tourists Vanish on Floods Leaving Hotel Bars Empty” วันนี้ (7)
“กิจการย่ำแย่จริงๆ ค่ะ แทบจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป และตะวันออกกลางเลย” นางสายใจ ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ‘ย่านนานา’ มานานกว่า 10 ปี กล่าว “ปกติช่วงท่องเที่ยวแบบนี้ ฉันน่าจะขายของได้ 10,000 บาทต่อวันสบายๆ แต่ตอนนี้ วันๆ ของขายได้ไม่กี่ร้อยบาท ไม่พอจ่ายค่าเช่าด้วยซ้ำ”
ทั้งที่มวลน้ำยังเข้าไม่ถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน แต่โรงแรมและอาคารสำนักงานทุกแห่งล้วนตั้งกำแพงกระสอบทรายขึ้นป้องกัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งนี้มีเกินกว่า 500 ราย ความวิตกกังวลเหล่านี้เป็นปัญหาต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ และสายการบินคาเธย์ แปซิฟิก ต้องลดจำนวนเที่ยวบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มิหนำซ้ำยังกระทบต่อจำนวนการสำรองห้องพักของโรงแรมทั่วกรุงเทพฯ
“ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเจอภาวะชะงักงันชั่วคราว” จอห์น สโลซาร์ ซีอีโอของสายการบินคาเธย์ กล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ระหว่างการประชุมสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก ณ กรุงโซล “หากคุณเลือกได้ คุณคงไม่เลือกไป (ไทย) เพราะไม่มีใครบอกได้ว่า คุณจะต้องเจออะไรบ้าง”
คาเธย์ แปซิฟิก ประกาศลดเที่ยวบินปลายทางกรุงเทพฯ จาก 5 เที่ยว เป็น 4 เที่ยว/วัน หลังจากพบปัญหาเที่ยวบินมีผู้โดยสารเพียงครึ่งลำ จอห์น สโลซาร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โดยปกติแต่ละเที่ยวบินจะมีลูกค้าใช้บริการอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์
ปัญหาน้ำท่วมยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ เช่น สุขุมวิท ราชประสงค์ หรือสีลม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงถนัดตา สำหรับเรื่องนี้ แม่ค้าแผงลอยวัย 54 ปี อย่างสายใจเห็นว่า “สื่อรายงานข่าวน้ำท่วมรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง”
ทั้งนี้ อุทกภัยครั้งนี้คุกคามพื้นที่ 64 จังหวัด ทั่วประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เขย่าขวัญโรงงานอุตสาหกรรมนับหมื่นแห่ง ซูเปอร์มาร์เกตในกรุงเทพฯ ขาดแคลนสินค้าบริโภค เช่น ข้าวสาร บะหมี่สำเร็จรูป ไข่ น้ำดื่ม จากปัญหาการกักตุนอาหาร และห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน
การยกเลิกการสำรองห้องพักในโรงแรมต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความวิตกจริตภัยน้ำท่วมทำให้ลูกค้าเหล่านี้เลือกที่จะเลื่อนแผนการประชุม งานแต่งงาน การจัดอีเวนต์ และการท่องเที่ยวออกไป โดยนายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า อัตราการเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯ ลดลงเหลือเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ช่วงปกติ ฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นนี้ ควรจะมีอัตราเข้าพักเกินกว่า 75 เปอร์เซ็นต์
ห้องอาหารของโรงแรมแชงกรีลา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยมีลูกค้าใช้บริการคึกคัก กลับมีบรรยากาศเงียบเหงา เมื่อมีลูกค้านั่งเพียงไม่กี่โต๊ะช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประตูทางเข้าโรงแรมมีการวางแนวกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำถูกติดตั้งรอเวลาทำงาน หากวันคืนดี น้ำเกิดล้นจากค้นกั้นน้ำเจ้าพระยา
กรุ๊ปทัวร์ โดยเฉพาะจากจีนและฮ่องกง ขอยกเลิกการเดินทางจำนวนมาก หลังรัฐบาลในประเทศต่างๆ มีคำเตือนการเยือนกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเลือกเดินทางไปยังพื้นที่ที่รอดพ้นน้ำท่วม โดยออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และสิงคโปร์ ล้วนเป็นประเทศที่มีการประกาศเตือนประชาชนถึงการเดินทางมายังกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินและโรงแรมยังเฝ้าหวังว่า การท่องเที่ยวจะกลับคืนสู่สภาพปกติปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนธันวาคม เมื่อผ่านพ้นวิกฤตอุทกภัย และก้าวเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวสิ้นปี โรงแรมแชงกรีลาและโรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศปาร์ค ประเมินสถานการณ์ในแนวโน้มที่ดีว่า การสำรองห้องพักน่าจะดีดตัวกลับมา ส่วนจอห์น สโลซาร์ แห่งคาเธย์ ตั้งความหวังว่า ปัญหาจะสิ้นสุดก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งลูกค้าจะกลับมาใช้บริการกันคึกคักตามปกติ