เอเจนซี - สำนักข่าวระดับโลกเผยแพร่รายงานเชิดชูพระอัจฉริยภาพ “ในหลวง” ที่ทรงวางโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนท่ามกลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องที่ประชาชนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จนกระทั่งต้องเผชิญมหาอุทกภัยครั้งเลวร้าย
บทความเรื่อง In Thailand, a battle royal with water ระบุว่า อุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย คือสิ่งที่พระองค์พยายามอย่างหนักสำหรับหาทางปกป้องมาตลอด พระองค์ทรงเคยเตือนแต่ไม่มีใครใส่ใจต่อการถึงการพัฒนารวดเร็วเกินไป และทรงมีแนวคิดต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายจากการหนุนของน้ำทะเลในแต่ละปี นอกเหนือจากการรับมือกับฤดูน้ำหลาก
วิกฤตของประเทศไทยจากน้ำท่วมใหญ่เวลานี้ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนเกือบ 400 ราย และ พลเมืองนับแสนต้องกลายเป็นผู้อพยพ เป็นทั้งบทเรียนที่แสนแพงจากการละเลยคำเตือนของพระองค์และการฝืนควบคุมพลังธรรมชาติที่มีศักยภาพเหนือกว่ากำลังของมนุษย์
ในบทความของเอพียังอ้างนักวิเคราะห์จากต่างประเทศตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความสามารถในการประสานงาน และวางแผนการจัดการน้ำให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทัดเทียมพระองค์ บางสิ่งที่หลายคนวิจารณ์ว่าไทยขาดแคลนโดยสิ้นเชิง
แม้ในเวลานี้ที่เมืองหลวงของไทยกำลังดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับมวลน้ำที่ไหลหลั่งมา พระองค์ก็ยังทรงแนะนำถึงแนวทางการผันน้ำจากทางตอนเหนือลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่ไม่เหมือนกับในอดีตเพราะพระสุรเสียงของพระองค์ก็ไม่อาจดลใจให้ภาครัฐดำเนินการตามที่พระองค์มีรับสั่งได้
เอพีระบุว่า ในหลวงทรงมีผลงานด้านการจัดการน้ำโครงการแรกเมื่อปี 1963 โดยทรงสร้างเขื่อนกั้นน้ำจืดเพื่อป้องกันน้ำทะเลปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดที่อำเภอหัวหิน และจนถึงวันนี้ทรงมีโครงการในพระราชดำริมากกว่า 4,300 โครงการ โดยร้อยละ 40 ของโครงการเหล่านั้นเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ
เดวิด เบลค ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำแห่งมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการจัดการน้ำในประเทศไทย กล่าวว่า “นโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากพระราชดำริ โครงการในพระราชดำริ และการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงทุ่มเทเวลากว่า 40 ปี ในการดำเนินการ”
“แม้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเอเชียเฟื่องฟู พระองค์ก็ทรงเฝ้าเตือนประชาชนเกี่ยวกับอุทกภัย การจราจรติดขัดและความทุกข์ยากต่างๆ” นายโดมินิก เฟาล์เดอร์ บรรณาธิการอาวุโสหนังสือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กำลังจะตีพิมพ์กล่าว “แต่น่าเสียดายที่คำเตือนนั้นเป็นเรื่องที่ผู้คนจำนวนมากไม่อยากได้ยิน เปรียบได้ดั่งยาขมที่ทุกคนไม่ต้องการรับประทาน”
เขาบอกต่อว่า “พระองค์ทรงมุ่งหวังพยายามคลี่คลายปัญหา ทว่าก็ถูกโต้เถียงจากนักการเมือง และข้อเท็จจริงก็คือสิ่งที่เรากำลังได้เห็นในตอนนี้”
บทความของเอพีระบุว่า พระองค์ทรงตั้งชื่อโครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่า “แก้มลิง” โดยอธิบายจากพฤติกรรมของลิงที่พระองค์ทรงเลี้ยงครั้งยังทรงพระเยาว์ ที่เก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะกลืนลงคอในภายหลัง
ทั้งนี้ น้ำทางเหนือที่กำลังมุ่งสู่กรุงเทพฯ จะถูกเปลี่ยนทิศไปยังแก้มลิง ก่อนจะไหลลงทะเลหรือเข้าสู่ระบบชลประทานอย่างรวดเร็ว โดยโครงการนี้ยังรวมไปถึงการสร้างแหล่งเก็บน้ำต่างๆเช่น บ่อ ลำคลอง และประตูน้ำ พร้อมๆ กับการปรับปรุงระบบการระบายน้ำในกรุงเทพฯ จนทำให้เมืองหลวงแห่งนี้ไม่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมนานกว่าทศวรรษ
เบลคกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในโครงการนี้จะมีชุมชนบางส่วนรอบกรุงเทพฯต้องเสียสละเพื่อปกป้องใจกลางเมืองหลวง และบางครั้งหน่วยราชการก็ผันน้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรแทนที่จะเป็นแหล่งเก็บน้ำ อย่างไรก็ตามเวลานี้พื้นที่ที่สามารถเป็นแก้มลิงทั้งทางตะวันตก ตะวันออกและทางเหนือของเมือง กลายสภาพเป็นเขตอุตสาหกรรม บ้านเรือนราษฎร สนามกอล์ฟและสนามบินนานาชาติไปเสียแล้ว
ในช่วงต้นปี 1971 พระองค์ทรงเคยเตือนว่า การตัดไม้ทำลายป่าในผืนป่าทางเหนือของประเทศอาจจุดนวนอุทกกภัยในอนาคต เนื่องจากจะไปลดประสิทธิภาพของดินในการดูดซับน้ำ และวันนี้ก็เป็นที่ยอมรับแล้วว่ามันมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุทกภัยครั้งนี้ด้วย
ขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พระองค์ที่ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งประเทศ ส่งเสริมให้เรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ