xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเอกวาดอร์ประท้วงเวิลด์แบงก์ เรียกร้องคำขอโทษกรณีเบี้ยวเงินกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีราฟาเอล กอร์เรอาแห่งเอกวาดอร์
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ประท้วงเวิลด์แบงก์ เรียกร้องให้ขอโทษกรณีเบี้ยวเงินกู้ทั้งที่อนุมัติแล้วนานหลายปี ตลอดจนกรณีสร้างความเสียหายต่อละตินอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากนั้นเขาก็เดินผละออกจากที่ประชุมสุดยอดชาติที่พูดภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกส ขณะที่ผู้แทนธนาคารโลกกำลังจะขึ้นพูด

การประชุมว่าด้วยวิธีรับมือผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ของกลุ่มผู้นำจากประเทศที่พูดภาษาสเปนและโปรตุเกส ซึ่งประกอบด้วยชาติละตินอเมริกา, สเปน, และโปรตุเกส ที่ดำเนินมา 2 วันปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ (30)

ทว่า ก่อนหน้านั้นในวันเสาร์(29) ระหว่างวาระการขึ้นพูดของ พาเมลา ค็อกซ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารโลกประจำละตินอเมริกาและแคริบเบียน ปรากฏว่าประธานาธิบดีราฟาเอล กอร์เรอาแห่งเอกวาดอร์ ได้พูดทะลุกลางปล้องด้วยอาการโกรธเกรี้ยวอย่างเห็นได้ชัด

“ในที่ประชุมไอเบอโร-อเมริกัน ทำไมผมจึงต้องฟังรองประธานธนาคารโลกที่เคยแบล็กเมล์ประเทศผมอย่างเปิดเผย”

กอร์เรอาพาดพิงถึงเหตุการณ์ในปี 2007 ตอนที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และขับค็อกซ์ออกจากประเทศ ตอบโต้ที่ธนาคารโลกตัดสินใจระงับเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่เงินกู้ก้อนดังกล่าวผ่านการอนุมัติตั้งแต่ปี 2005 ขณะที่กอร์เรอาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง

“ผู้หญิงคนนั้นบอกผมว่า ‘เราไม่ให้เงินกู้แก่คุณ เพราะนโยบายเปลี่ยนไปแล้ว’” กอร์เรอาย้ำว่าเขาไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดในตอนนี้จึงต้องฟังคำพูดของเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศผู้นี้

“อย่างน้อยค็อกซ์ควรขอโทษสำหรับความเสียหายที่เกิดกับละตินอเมริกาและประเทศทั่วโลก” กอร์เรอาลุกออกจากที่ประชุมทันทีหลังจากพูดจบ

ทางด้านประธานาธิบดีเฟร์นันโด ลูโกแห่งปารากวัย เจ้าภาพการประชุม พยายามผ่อนคลายบรรยากาศโดยกล่าวว่า “นี่เป็นการประชุมแบบเปิดที่ทุกคนและทุกความคิดจะได้รับการรับฟัง”

ขณะที่ค็อกซ์นิ่งเฉยระหว่างการวิจารณ์ของกอร์เรอา รวมถึงไม่ได้พาดพิงถึงผู้นำเอกวาดอร์เมื่อถึงคิวการนำเสนอของตนเอง ทว่าแซร์จิโอ เจลลิเน็ก โฆษกธนาคารโลก กล่าวในภายหลังว่า การโจมตีของกอร์เรอาเป็นความคิดเห็นส่วนตัว และธนาคารโลกรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อหมดวาระการพูดของค็อกซ์แล้ว กอร์เรอากลับเข้าสู่ที่ประชุมและพูดโดยพุ่งเป้าที่ค็อกซ์ ซึ่งเป็นคนอเมริกันอีกครั้ง รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่มีตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้มีผู้นำร่วมหารือจาก 9 ประเทศ รวมถึงนายกรัฐมนตรีโฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ของสเปนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง

ส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมคือผู้นำชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ บราซิลและอาร์เจนตินา ตลอดจนถึงเวเนซุเอลา และประธานาธิบดีอีกหลายประเทศในอเมริกากลาง

ระหว่างการประชุมซัมมิตคราวนี้ ประธานาธิบดีเฟลิเป กัลเดรอน ของเม็กซิโก เตือนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ซึ่งที่สำคัญแล้วเป็นการพึ่งพิงการส่งออกพวกวัตถุดิบที่ขณะนี้มีราคาดี อาทิ ทองแดง ถ่านหิน น้ำมัน และถั่วเหลือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่งออกไปยังจีนที่กำลังบูม อาจมีโอกาสที่จะสิ้นสุดลงและส่งผลร้ายต่อทั้งภูมิภาค

ด้านประธานาธิบดีออลลันตา อูมาลา จากเปรู เน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคล้มเหลวในการแจ้งเกิดในฐานะผู้ผลิตสินค้าและบริการขั้นสูง

ในแถลงการณ์สุดท้าย ที่ประชุมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการคว่ำบาตรทางการค้าที่ดำเนินมาครึ่งศตวรรษต่อคิวบา พร้อมเรียกร้องให้อังกฤษไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับอาร์เจนตินากรณีหมู่เกาะโฟล์กแลนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น