บีบีซีนิวส์ - ที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ณ เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ในวันนี้ (28) มีมติเปลี่ยนกฏมณเฑียรบาล ยินยอมให้ไม่ว่าจะเป็นพระราชโอรส หรือพระราชธิดา ของกษัตริย์องค์ต่อไปแห่งสหราชอาณาจักร ก็ทรงมีสิทธิ์ขึ้นครองราชบัลลังก์ได้เช่นเดียวกัน
ผู้นำ 16 ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษทรงเป็นองค์ประธาน มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์
นั่นหมายถึงว่า พระธิดาพระองค์แรก ที่ถือกำเนิดในดยุค และดัชเชสแห่งเคมบริดจ์จะทรงมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ก่อนพระอนุชาองค์อื่นๆ
นอกจากนี้ ข้อห้ามไม่ให้องค์กษัตริย์อภิเษกกับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ก็ถูกยกเลิกไปด้วย
ภายใต้กฏมณเฑียรบาลเดิม ที่ยึดถือมานานกว่า 300 ปี รัชทายาทจะต้องเป็นพระราชโอรสองค์แรกของพระมหากษัตริย์ โดยมีเพียงกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่มีพระราชโอรสเลย อย่างเช่น พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระราชินีเอลิซาเบธเท่านั้น มงกุฏจึงจะตกมาอยู่ในมือของพระราชธิดาองค์โต
การเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์ดังกล่าวจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายครั้งใหญ่ รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ปี 1701 กฏหมายสิทธิเสรีภาพปี 1689 และพระราชบัญญัติการอภิเษกสมรสปี 1772
ด้านนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษกล่าวถึงการเปลี่ยนกฏมณเฑียรบาลครั้งนี้ว่า จะมีผลบังคับใช้กับทายาทของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ แต่ไม่มีผลย้อนหลัง
"พูดง่ายๆ คือ หากดยุค และดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ทรงมีพระธิดาพระองค์น้อย เด็กหญิงคนนั้นอาจจะเป็นพระราชินีของพวกเราในอนาคต" ผู้นำอังกฤษเสริม
ส่วนนายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ดของออสเตรเลีย 1 ในประเทศเครือจักรภพ เผยว่านี่เป็นช่วงเวลาพิเศษ "ฉันรู้สึกกระตือรือร้นมาก คุณน่าจะรู้ว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลียจะต้องตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงในยุคนี้"
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มรณรงค์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสาธารณรัฐ ซึ่งต้องการให้มีการเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐ ชี้ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ เกิดขึ้น