เอเจนซีส์ - รัฐสภาสหรัฐฯผ่านข้อตกลงการค้าเสรี3 ฉบับรวดกับเกาหลีใต้ โคลอมเบีย และปานามา หลังเจอโรคเลื่อนมาราธอนเป็นแรมปี คาดกระตุ้นการส่งออกปีละ 13,000 ล้านดอลลาร์ และส่งเสริมการจ้างงานชาวอเมริกัน
วันพุธ (12) สมาชิกรีพับลิกันและเดโมแครตทั้งในสภาผู้แทนฯ และสภาสูง รวมพลังผ่านข้อตกลงการค้าทั้งสามฉบับด้วยคะแนนทิ้งห่าง และส่งต่อให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา พิจารณาเพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ผู้นำแดนอินทรีที่ส่งข้อตกลงนี้เข้าสู่คองเกรสเมื่อ 9 วันก่อนหน้านั้น แถลงชื่นชมการตัดสินใจของรัฐสภาว่าถือเป็น ‘ชัยชนะสำคัญสำหรับพนักงานและธุรกิจอเมริกัน’ ซึ่งจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ประทับตราแห่งความภูมิใจ ‘ผลิตในอเมริกา’ สนับสนุนงานดีๆ สำหรับคนอเมริกันนับหมื่นนับแสน ปกป้องสิทธิแรงงาน สภาพแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตกับสามประเทศดังกล่าว
โอบามายังระบุว่า ข้อตกลงเหล่านี้เป็นส่วนหลักของยุทธศาสตร์การต่อสู้อัตราว่างงานที่ปัจจุบันยังคงวนเวียนอยู่แถวๆ 9.1% พร้อมสำทับว่าในทางกลับกัน หากปราศจากข้อตกลงเหล่านี้ อเมริกาอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งอย่างสหภาพยุโรปและจีนที่เดินสายทำข้อตกลงการค้าใหม่ๆ มากมาย
ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าออกเกษตรและอุตสาหกรรมเมืองลุงแซมจะได้อานิสงส์จากข้อตกลงการค้าเสรี 3 ฉบับนี้ รวมทั้งข้อตกลงเหล่านี้ยังช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้แก่บริษัทอเมริกันในภาคบริการ เช่น การธนาคาร ประกันภัย และการจัดส่งพัสดุภัณฑ์ด่วน
มิตช์ แมกคอนเนลล์ ผู้นำรีพับลิกันในวุฒิสภา แสดงความเห็นว่าการลงมติที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองพรรคครั้งนี้ ชี้ว่ายังมีบางประเด็นที่รีพับลิกันและโอบามาสามารถหาจุดยืนร่วมกันได้ แม้มีความเห็นไม่ลงรอยในเรื่องกฎหมายการสร้างงานและอีกหลายประเด็นในอดีตก็ตาม
อย่างไรก็ดี ยังมีฝ่ายที่เห็นแย้ง เช่น วุฒิสมาชิกเชอร์ร็อด บราวน์ ที่กล่าวว่าข้อตกลงเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อการจ้างงานของสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้โอบามาละทิ้งแนวทางแบบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และเปลี่ยนนโยบายการค้าให้มุ่งเน้นผู้ผลิตและแรงงานอเมริกันเป็นอันดับแรก
ทางด้านนักวิเคราะห์คาดว่าผลประโยชน์ใหญ่สุดจะมาจากข้อตกลงกับเกาหลีใต้ พันธมิตรขาประจำของอเมริกาที่มีเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในภูมิภาคที่จีนครอบงำอยู่ เนื่องจากข้อตกลงนี้จะนำพาอเมริกาเข้าสู่ภูมิภาคที่โตเร็วที่สุด
ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกา-เกาหลีใต้ยังเป็นข้อตกลงการค้าที่มีมูลค่าสูงสุดของสหรัฐฯ นับจากนาฟตามีผลในเดือนมกราคม 1994
การผ่านข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนที่ประธานาธิบดีลีเมียงบัคของเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังเยือนสหรัฐฯ จะมากล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมคองเกรส ทั้งนี้ ในระหว่างกล่าวกับกลุ่มนักธุรกิจอเมริกัน ผู้นำแดนกิมจิยกย่องว่าข้อตกลงการค้าฉบับนี้เป็น ‘ความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่ง’ อันจะนำไปสู่การจ้างงานในทั้งสองประเทศ
ในการศึกษาเมื่อปี 2007 คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ ประเมินว่าข้อตกลงสหรัฐฯ-เกาหลีใต้จะทำให้สินค้าออกของอเมริกาไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6,900 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยธุรกิจที่ได้รับประโยชน์คือ เสื้อผ้า รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
แต่ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานเอเอฟแอล-ซีไอโอ ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานอเมริกันราว 12 ล้านคน ได้ร่วมกับสถาบันนโยบายเศรษฐกิจออกโฆษณาต่อต้านข้อตกลงเหล่านี้ โดยอ้างอิงรายงานของสถาบันฯ ที่ ประเมินว่าข้อตกลงกับโซลจะทำให้คนอเมริกันตกงาน 159,000 คนในเวลา 7 ปี ขัดแย้งกับที่ทำเนียบขาวอ้างว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 70,000 ตำแหน่ง ขณะที่พรรครีพับลิกันในรัฐสภาเชื่อว่าจะนำไปสู่การจ้างงานใหม่ 250,000 ตำแหน่ง
โฆษณาชุดนี้ยังรื้อฟื้นข้อกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงต่อนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานในโคลอมเบีย พร้อมกล่าวหาว่าปานามาเป็นแหล่งฟอกเงินและเลี่ยงภาษี
ต่อประเด็นเหล่านี้ ทำเนียบขาวแถลงเมื่อคืนวันอังคาร (11) ว่าโบโกตาได้อนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงสิทธิด้านแรงงานแล้ว พร้อมให้ความมั่นใจว่าจะผลักดันให้บรรลุผลก่อนที่วอชิงตันจะผ่านข้อตกลงการค้าเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้
อนึ่ง ข้อตกลงเหล่านี้มีการเจรจาและบรรลุผลมาตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วโดยคณะรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ทว่าไม่สามารถผลักดันฝ่าด่านเดโมแครตที่กังวลกับแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานในต่างประเทศ รวมถึงการแข่งขันที่อาจรุนแรงขึ้นและกระทบต่อแรงงานอเมริกัน
ในส่วนโอบามานั้น แม้มีความคืบหน้าอย่างช้าๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้นำทำเนียบขาวได้เจรจานอกรอบกับแต่ละประเทศเพื่อขจัดความกังวลของเดโมแครตและลดแรงเสียดทานลง
นอกจากนี้ เขายังยืนยันให้สภาล่างต่ออายุโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ถูกปลดจากการแข่งขันกับต่างชาติ ซึ่งสภาล่างให้ความเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยพร้อมกับข้อตกลงการค้าทั้งสามฉบับ ขณะที่วุฒิสภาโหวตผ่านมาก่อนหน้านี้