เอเอฟพี - กลุ่มหัวรุนแรงชนกลุ่มน้อยของภูฏาน ซึ่งมีที่มั่นอยู่ในเนปาล อ้างเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อน บริเวณแนวชายแดนของประเทศ เพียงไม่กี่วันก่อนที่ดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ จะเฉลิมฉลองพิธีอภิเษกสมรสของพระราชาธิบดีจิกมี
แนวร่วมปฏิวัติแห่งภูฏาน หรือ ยูอาร์เอฟบี แถลงในวันนี้ (11) ว่า ทางกลุ่มได้ก่อเหตุระเบิดที่ไม่รุนแรงนัก เพื่อดึงความสนพระทัยของกษัตริย์ไปยัง “ความทุกข์มวลรวมของประชาชน”
ตำรวจระบุว่า เกิดเหตุระเบิด จากอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเอง ในเมืองพุนโชลิง ซึ่งมีชายแดนติดกับอินเดีย ในเย็นวันจันทร์ (10) ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้มีพลเมืองชาวอินเดียได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
แนวร่วมยูอาร์เอฟบีเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน จากผู้อพยพในค่ายทางตะวันออกของเนปาล ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยหลายหมื่นครอบครัว ที่หลบหนีออกจากภูฏานในช่วงต้นปี 1990 โดยอ้างว่าถูกกดขี่ข่มเหงด้านเชื้อชาติ และทางการเมือง
กลุ่มดังกล่าวเคยอ้างว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดหลายระลอกในภูฏาน เมื่อเดือนมกราคม ปี 2008 ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งตามระบอบรัฐสภาเป็นครั้งแรกของประเทศ
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระชนมพรรษา 31 พรรษา จะทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ เจ็ตซัน เปมา หญิงสาวสามัญชนในวันพฤหัสบดี (13) นี้ และจะมีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่สำหรับประชาชนร่วม 700,000 คน ในราชอาณาจักรของพระองค์
ขณะที่ถวายการแสดงความยินดีต่อองค์กษัตริย์ และว่าที่พระชายา แนวร่วมยูอาร์เอฟบียังกล่าวเชิงข่มขู่ว่า หวังให้ทั้งสองพระองค์วางตัวออกห่างจากนโยบายของพระบิดา ที่บีบให้พวกเขาต้องก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้
“ตอนนี้ ลูกบอลอยู่ในสนามขององค์กษัตริย์ ซึ่งจะตัดสินการกระทำในอนาคตของพวกเรา” แนวร่วมปฏิวัติภูฏาน เสริม
แนวร่วมเช่นเดียวกับยูอาร์เอฟบีหลายกลุ่มมีความรู้สึกว่าพระราชาธิบดีพระองค์ก่อน ซึ่งสละราชสมบัติในปี 2006 เป็นผู้วางนโยบายต่างๆ เช่น บังคับใส่ชุดประจำชาติ และห้ามใช้ภาษาเนปาล ที่เป็นการขับไล่ชนกลุ่มน้อยชาวเนปาลออกจากภูฏาน
อย่างไรก็ตาม ทางการภูฏาน ชี้ว่า ผู้อพยพเหล่านั้นเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย ส่วนค่ายผู้อพยพดังกล่าวก็เป็นสถานที่ฟูมฟักองค์การก่อการร้ายอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น ภูฏานไทเกอร์ฟอร์ซ ภูฏานเหมาอิสต์ปาร์ตี้ และพรรคคอมมิวนิสต์ภูฏาน