xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน” เยือนจีนผูกสัมพันธ์ระยะยาว ชี้วางฐานการต่างประเทศก่อนคืนเก้าอี้ ปธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตรียมเดินทางเยือนจีนในพรุ่งนี้ (11) อันเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขาประกาศเจตจำนงจะหวนกลับคืนสู่อำนาจสูงสุดในพระราชวังเครมลินอีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์พากันมองว่าการเยือนแดนมังกรครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาประจวบเหมาะและมีนัยสำคัญบ่งบอกถึงการที่ปูตินให้ความสำคัญกับนโยบายผูกมิตรระยะยาวกับปักกิ่ง ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมอสโก

การเยือนแผ่นดินมังกรระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคมนี้ นายกรัฐมนตรีปูตินจะเดินทางมาพร้อมกับคณะผู้ติดตามซึ่งประกอบด้วยมหาเศรษฐีและนักธุรกิจชั้นนำของแดนหมีขาวรวม 160 ชีวิต โดยปูตินมุ่งหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระยะยาวกับปักกิ่งให้แนบแน่นยิ่งขึ้น และมีกำหนดจะพบหารือข้อราชการกับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ด้วย

ทั้งนี้ จีนขึ้นแท่นกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซียเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และทั้งสองประเทศก็กำลังมองหาช่องทางที่จะขยายยอดมูลค่าการค้าระหว่างกันขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2015 และ 200,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020 โดยที่รัสเซีย ซึ่งเป็นชาติผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก กับจีน ประเทศผู้บริโภคพลังงานอันดับหนึ่งของโลก เตรียมจะลงนามในข้อตกลงการค้าและการลงทุนร่วมกันหลายฉบับในระหว่างที่ปูตินเยือนปักกิ่งคราวนี้

โฆษกของปูตินระบุว่า ผู้นำของสองประเทศจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงหลายฉบับ อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธที่จะแจกแจงรายละเอียดว่ามีข้อตกลงอะไรบ้าง กระนั้นหลายฝ่ายก็คาดคะเนเอาไว้ว่า วาระสำคัญที่สุดน่าจะเกี่ยวข้องกับความตกลงส่งออกก๊าซเชื้อเพลิงไปให้จีนตลอด 3 ทศวรรษข้างหน้าซึ่งที่ผ่านมาประสบความชะงักงัน

บริษัทก๊าซปรอม ผู้ผลิตก๊าซเชื้อเพลิงรายใหญ่ของรัสเซีย และบริษัทเนชันแนล ปิโตรเลียม ของจีน ได้ลงนามในกรอบความตกลงเมื่อปี 2009 ที่จะส่งออกก๊าซไปให้จีนปริมาณ 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีตลอด3 ทศวรรษข้างหน้า อย่างไรก็ตาม สัญญาดังกล่าวไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันเรื่องราคาได้

ทางด้านผู้สังเกตการณ์มองว่า การที่ปูตินเลือกเวลาไปเยือนจีนช่วงนี้ถือเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ โดยที่อาจมองได้ว่าปูตินกำลังลำดับความสำคัญของนโยบายด้านต่างประเทศที่เตรียมไว้สำหรับหลายปีข้างหน้า

เซอร์เก ซานาโกเยฟ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจจีน-รัสเซีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า “นี่เป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ว่า ปูติน ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นในจีน กำลังเดินทางไปที่นั่นในช่วงเวลาที่จำเพาะเจาะจงแบบนี้”

ปูตินซึ่งประกาศว่าจะลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประมุขแห่งพระราชวังเครมลินเป็นสมัยที่ 3 ในเดือนมีนาคม ปี 2012 ได้รับการคาดหมายว่า จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้แบบไร้คู่แข่ง โดยที่นักวิเคราะห์มองว่าหากปูตินได้รับเลือก ซึ่งนั่นอาจทำให้เขาอยู่ในอำนาจไปจนถึงปี 2024 ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้ที่สมัยละ 6 ปีนั้น น่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับปักกิ่งให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ซานาโกเยฟกล่าวต่อไปว่า พวกนักธุรกิจและนักการเมืองจีนต่างก็มองมาตลอดว่า ปูตินเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดตัวจริงในรัสเซีย ถึงแม้ว่าเขาจะก้าวลงมานั่งเก้าอี้นายกฯ ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญของรัสเซียบัญญัติไม่ให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งเกิน 2 สมัยติดต่อกัน พร้อมกับเปิดทางให้ดมิตรี เมดเวเดฟ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ ปูตินได้ปาฐกถาในที่ประชุมนักลงทุน โดยมีตอนหนึ่งเอ่ยถึงความสัมพันธ์กับปักกิ่งด้วย

“พวกเรามีพรมแดนขนาดใหญ่ติดกับจีน พวกเราอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานับพันๆ ปีแล้ว” ปูติน กล่าว “วันนี้ ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของพวกเราอาจยกระดับขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ถ้าไม่นับช่วงระยะเวลาสั้นมากในยุคหลังสงครามโซเวียต”

ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ มอสโกกับปักกิ่งเพิ่งแสดงให้เห็นถึงจุดยืนอันสอดคล้องเกี่ยวกับปัญหาในตะวันออกกลาง โดยทั้งสองประเทศต่างใช้สิทธิยับยั้งหรือ “วีโต้” ในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการขัดขวางมาตรการของฝ่ายตะวันตกที่จะยูเอ็นตอบโต้ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย จากกรณีใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในประเทศอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจคู่นี้มีอันตึงเครียดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากทางการมอสโกแถลงว่า ได้จับกุมสายลับชาวจีนรายหนึ่งด้วยข้อกล่าวหาพยายามจารกรรมข้อมูลเกี่ยวกับระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศรุ่นเอส-300 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ทั้ง มอสโก ตลอดจนปักกิ่งซึ่งเป็นลูกค้าซื้ออาวุธรายใหญ่ของรัสเซีย ต่างยังไม่ได้ออกมาระบุความเป็นไปได้ในการคลี่คลายประเด็นดังกล่าว ก่อนหน้าการหารือระดับผู้นำซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในสัปดาห์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น