xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “ปูติน-เมดเวเดฟ” คุยลงตัวสลับหัวโขนผู้นำ “รัสเซีย” ยึดบัลลังก์ยาว 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด ประธานาธิบดีดมิตรี เมดเวเดฟ ผู้นำรัสเซียคนปัจจุบัน ก็ประกาศออกมาชัดเจนถึงการเปิดทางให้ วลาดิมีร์ ปูติน กลับมาครองบัลลังก์ผู้นำหมีขาวอีกครั้ง โดยเสนอชื่อปูตินเป็นผู้ลงสมัครชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนมีนาคม 2012 ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ของทั้งสอง จะชนะแบบนอนมา ส่วนเมดเวเดฟก็จะสลับไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งของปูติน ณ เวลานี้ ยุติความเคลือบแคลงใจกรณีการแย่งชิงอำนาจกันเอง หลังจากทั้งคู่ต่างอมพะนำมาหลายเดือน
ประธานาธิบดีดมิตรี เมดเวเดฟ (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ปรากฏตัวร่วมกันบนเวทีที่ประชุมใหญ่พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ในงานนี้ ปูตินได้ตกปากรับคำลงสมัครชิงชัยเก้าอี้ผู้นำประเทศ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2012
การประกาศของเมดเวเดฟ กลางที่ประชุมใหญ่พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย เมื่อวันที่ 24 กันยายน สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองชนิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว สิ้นเสียงการประกาศดังกล่าว คนแรกที่ขอแตกหักไม่เอาด้วย คือ อเลกเซย์ คุดริน รัฐมนตรีคลัง ผู้เป็นกุนซือเศรษฐกิจของประเทศ มาตั้งแต่ปูตินเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

อเลกเซย์ คุดริน แสดงความเห็นไว้ว่า ไม่อาจทำงานภายใต้การนำรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีดมิตรี เมดเวเดฟ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับนโยบายเศรษฐกิจของเมดเวเดฟ ซึ่งมีแต่จะเพิ่มภาระรายจ่าย โดยเฉพาะงบประมาณทางการทหาร ไม่ทันขาดคำ คุดรินก็กลายเป็นอดีตรัฐมนตรีสมใจ เมื่อประธานาธิบดีเมดเวเดฟออกมาสวนกลับชนิดไม่ไว้หน้าว่า ถ้าไม่ยอมรับนโยบายที่รัฐสภาอนุมัติก็มีทางเลือกเดียว คือ “การลาออก” อย่างไรก็ตาม สื่อรัสเซียบางสำนักมองว่า อดีตขุนคลังผู้นี้กำลังเดินเกมต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลสมัยหน้า หลังจากเขาได้รับการคาดหมายในเก้าอี้นายกฯ มานาน แต่การประกาศสลับตำแหน่งกันอย่างไม่เป็นทางการของ “ปูติน-เมดเวเดฟ” ทำให้ความฝันของอเลกเซย์ คุดริน ต้องเลือนลางออกไป

การลาออกจากรัฐบาลที่อยู่กันมาเกือบ 12 ปีของอเลกเซย์ คุดริน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัสเซียทันตา เมื่อ “แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส” บริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ แสดงความกังวลว่า ความขัดแย้งนี้จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตระยะยาวของรัสเซีย ทั้งนี้ เนื่องจากอดีตรัฐมนตรีคุดรินเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนตะวันตกอย่างยิ่ง มิหนำซ้ำ เขายังเป็นคนนำพาเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จากจีดีพีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2000

ยิ่งไปกว่านั้น มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ออกมาวิพากษ์ ด้วยการเขียนบทวิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา เตือนว่า นักเสรีนิยมชาวรัสเซียกำลังเดินสู่วังวนแห่งทางตัน และรัสเซียสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ หากปูตินกลับมาครองอำนาจ “และมัวแต่คิดจะรักษาอำนาจนั่นไว้” ประเด็นที่กอร์บาชอฟวิจารณ์นี้ สอดคล้องกับสิ่งที่เมดเวเดฟได้ทำลงไป เมื่อมีการคลอดกฎหมายขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากคราวละ 4 ปี เป็น 6 ปี นั่นหมายความว่า หากปูตินในวัย 58 ปี คิดเป็นผู้นำติดต่อกันอีก 2 สมัย เขาจะครองอำนาจยืนยาว 12 ปี ไปจนถึง 2024 ด้วยอายุ 72 ปี และจะกลายเป็นผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด ตั้งแต่สิ้นโจเซฟ สตาลิน
บุรุษผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในรัสเซียทั้งสองคนนี้ กำลังจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเชยชมอำนาจ โดยดมิตรี เมดเวเดฟ ประกาศหลีกทางให้วลาดิมีร์ ปูติน ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง ส่วนตัวเขาก็ถอยไปเป็นนายกรัฐมนตรี
***ปัญหาที่รออยู่***

เมื่อปี 2010 องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (ทีไอ) รายงานผลสำรวจดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน รัสเซียถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสอันดับที่ 154 จากทั้งหมด 178 อันดับ กัมพูชา เคนยา และลาว เป็นตัวอย่างชาติที่อยู่ในอันดับเดียวกับรัสเซีย ส่วนไทยติดอยู่ในอันดับที่ 78 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า การคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับปูติน

ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ ความล้าหลังของโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่สมัยโซเวียตที่เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น เหตุเรือล่มในแม่น้ำวอลกา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 122 ราย และเหตุเครื่องบินตกสำคัญๆ 3 ครั้ง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 ราย ขณะที่รัสเซียมีมหกรรมกีฬาระดับโลกรอให้ปูตินเข้าไปบริหารจัดการ ทั้งโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชี และปี 2018 กับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรก นอกจากนี้ ระหว่างการประกาศรับข้อเสนอลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ณ ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมราว 11,000 คน วลาดิมีร์ ปูติน ยังบอกเป็นนัยว่า อาจมีการขึ้นภาษีคนร่ำรวย และเตรียมปรับราคาสุรา-ยาสูบให้สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน คนในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปรยออกมาว่า พร้อมทำงานกับประธานาธิบดีรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม โดยเมดเวเดฟ กับ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเสมอมา ทั้งคู่ได้รับการจับตามองในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ ในยุคที่เทคโนโลยีหมุนรอบตัว ผิดกับปูตินที่ถูกมองว่า มาจากยุคโซเวียต

ทว่า จุดยืนของปูตินอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียกลับไปตั้งต้นกันใหม่จากประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องการแทรกแซงทางทหารในลิเบีย ที่รัสเซียของเมดเวเดฟไม่ใช้อำนาจยับยั้งมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่ปูตินกลับวิพากษ์วิจารณ์ชาติตะวันตกอย่างรุนแรงหลายครั้งด้วยกัน

นอกจากนี้ ผลสำรวจของกองทุนมติมหาชน (Public Opinion Fund) ในรัสเซีย เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ประชาชนราว 52.9 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นกิจวัตร ขณะที่ในปัจจุบัน ชนชั้นกลางรัสเซียนิยมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบล็อกอย่าง “ไลฟ์เจอร์นัล” (Live Journal) กันมากขึ้น เพื่อระบายความไม่พอใจในปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องจำนวนประชากรรัสเซียที่ลดลง ไปจนถึงเรื่องความไม่สงบในภูมิภาคคอเคซัส

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้วาระการปกครองสมัยที่ 3 ของวลาดิมีร์ ปูติน ไม่ได้ปูด้วยพรมแดงอย่างแน่นอน
วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวต่อสมาชิกพรรคราว 11,000 คน ในที่ประชุมใหญ่พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ทั้งนี้ เขาอาจดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียไปจนถึงปี 2024 เนื่องจากรัฐบาลได้ออกกฎหมายใหม่ ขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีเป็นคราวละ 6 ปี
****ใครคือปูติน? ****

วลาดิมีร์ ปูติน สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ก่อนผันตัวไปเป็น “สายลับเคจีบี” เขาได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเรื่อยมา จนเข้าทำงานทางการเมือง และเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลซิน

หลังจากประกาศลาออกของเยลซิน ช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ 1999 ปูตินได้เข้ารักษาการเก้าอี้ผู้นำประเทศ และได้รับเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนนนิยม 53 % เมื่อปี 2000 ภายใต้การบริหารของเขา เศรษฐกิจของรัสเซียพุ่งพรวดอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกน้ำมันที่ราคาถีบตัวขึ้นสูง ทว่าก็มีเสียงครหาเรื่องการลุแก่อำนาจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2004 ปูตินก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 71 % โดยเหตุการณ์ที่กลุ่มกบฏเชชเนียบุกยึดโรงเรียนเบสลัน และสังหารตัวประกันอย่างน้อย 334 ราย ทำให้ชาวรัสเซียหนุนหลังปูติน ซึ่งตัดสินใจส่งทหารเข้าไปยังสาธารณรัฐปกครองตนเองเชชเนีย และประกาศไม่เจรจากับกลุ่มกบฏ

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญรัสเซีย ห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่ง 3 สมัยติดต่อกัน เมื่อหมดวาระในปี 2008 ปูตินก็สลับให้เมดเวเดฟขึ้นมานั่งจองเก้าอี้ผู้นำประเทศชั่วคราว ส่วนตัวเขารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รอวันที่จะกลับมานั่งคุมหัวโต๊ะปกครองรัสเซียอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น