เอเอฟพี - โบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก แนะเปิดสอนหลักสูตรการบินในระดับปริญญาตรี เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากร และจัดหาทุนสำหรับฝึกฝนนักบินรุ่นใหม่ๆ
ลูอิส แมนชินี รองประธานอาวุโสฝ่ายการบินพาณิชย์ของโบอิ้ง เสนอแนวทางแก้ปัญหานักบินขาดแคลน หลังจากย้ำคำเตือนของบริษัทไปเมื่อเดือนที่แล้วว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มจะขาดแคลนนักบินในอีก 2 ทศวรรษหน้า
“เรายังมีปริญญาสาขาวิศวกรรมศาสตร์, ประวัติศาสตร์, การเงิน, การบัญชี และอีกมากมาย เหตุใดจึงไม่ทำให้ใบอนุญาตนักบินมีสิทธิ์เทียบเท่าใบปริญญาบ้าง” แมนชินี กล่าวในงานสรุปข่าวที่สิงคโปร์
“ถ้าเปิดหลักสูตรนักบินในระดับปริญญาตรี การหาทุนจะทำได้ง่ายขึ้นในหลายๆประเทศ และจะเปิดโอกาสให้คนเข้ามาเรียนสาขานี้เพิ่มขึ้นด้วย” เขาเสริม
“หลักสูตรการบินจะมีโอกาสรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือแหล่งทุนอื่นๆ หากเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ดังนั้นผมคิดว่านี่คือ ทางออกที่เพียงพอ”
ปัจจุบันนักบินจะได้รับใบอนุญาตหลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการบิน และจำเป็นต้องลงเรียนเพิ่มเติมหากจะขับเครื่องบินชนิดพิเศษ เช่น แอร์บัส เอ380 ซึ่งมีห้องโดยสาร 2 ชั้น เป็นต้น
หลักสูตรในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆซึ่งใกล้เคียงวิชาการบินมากที่สุด ได้แก่ วิศวกรรมอากาศยาน (aeronautical engineering)
ข้อมูลจาก โบอิ้ง ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนนักบินจะกระทบภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก มากที่สุด เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
เอเชีย-แปซิฟิก จะต้องการนักบินมากกว่า 180,000 คน ภายในปี 2030 สูงกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก โบอิ้ง เผย
ปัจจุบัน เอเชีย-แปซิฟิก มีผู้ประกอบอาชีพนักบินอยู่ราว 60,000 คน