xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯยักษ์ญี่ปุ่นฟื้น หลังติดลบหลายเดือนตั้งแต่ภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ดัชนีความเชื่อมั่นล่าสุดของบรรดาบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น กลับเข้าสู่ทิศทางบวกเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิ ตลอดจนวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อช่วงต้นปี ทั้งนี้ตามรายงานการสำรวจประจำไตรมาสที่มีชื่อว่า “ตังกัง” ซึ่งจัดทำโดยแบงก์ชาติญี่ปุ่น (บีโอเจ) และได้รับความเชื่อถือว่าถูกต้องแม่นยำ

ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดตัวรายงานการสำรวจ “ดัชนีตังกัง” ประจำไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) เมื่อวันจันทร์ (3) ระบุว่า พวกอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ในประเทศ มีทัศนคติแง่บวกเพิ่มขึ้นโดยไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ +2 ในไตรมาสนี้ จากระดับ -9 ในไตรมาสที่แล้ว(เมษายน-มิถุนายน)

ในการจัดทำดัชนีตังกัง บีโอเจจะแบ่งธุรกิจต่างๆ ที่สำรวจออกเป็น กิจการภาคอุตสาหกรรมการผลิต และกิจการนอกภาคอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งในแต่ละภาค ยังแบ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ และกิจการขนาดกลางและเล็ก ขณะที่คะแนนความเชื่อมั่นในแต่ละกลุ่ม จะใช้วิธีนำเอาตัวเลขของกิจการที่มองในแง่ร้าย มาลบออกจากตัวเลขของกิจการที่มองในแง่ดี

ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของพวกอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่ปรากฏในไตรมาสล่าสุดนี้ นอกจากจะสูงกว่าผลสำรวจในไตรมาสก่อนหน้าแล้ว ตัวเลขยังขึ้นมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว, สึนามิ และวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเดือนมีนาคม 2011 เป็นต้นมา กระนั้น ตัวเลขนี้ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าตอนก่อนเกิดภัยพิบัติธรรมชาติข้างต้น

ไม่เพียงเท่านี้ ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่พวกนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ +3 มิหนำซ้ำพวกบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นยังคงมีทัศนคติหรือความเชื่อมั่นที่ยังติดลบอยู่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุอาจมาจากปัจจัยความวิตกกังวลในปัญหาค่าเงินเยนแข็งโป๊ก, วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตชะลอตัว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รายงานสำรวจตังกัง ซึ่งธนาคารกลางญี่ปุ่นจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของตนนั้น ได้ทำนายไว้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกิจการใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต น่าจะไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ +4 ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าบรรยากาศในทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าระดับ +5 ที่สำรวจในเดือนธันวาคม ปี 2010 ก็ตาม

ทางด้านซาโตชิ โอซานาอิ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยไดวะ ให้ทัศนะว่า “บริษัทต่างๆ ยังคงมีท่าทีระมัดระวังตัว ข้อมูลในวันนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการยืนยันว่า ผลผลิตที่หยุดชะงักไปนานนั้น ได้ฟื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว แต่กระนั้น ความเชื่อมั่นก็ยังไม่ฟื้นฟูเต็มที่ไปสู่ระดับก่อนหน้าเกิดภัยพิบัติ”

ทั้งนี้ เหตุธรณีพิโรธและสึนามิถล่มหลายจังหวัดทางแถบแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อเดือนมีนาคม ได้ส่งกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าประเภทเทคโนโลยีและอื่นๆ ที่ต้องหยุดชะงักไปนานหลายเดือน จากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย เช่น โซนี และโตโยต้า ต้องปิดโรงงานไปหลายแห่ง หรือระงับการผลิตชั่วคราว อันเนื่องจากขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และชิ้นส่วน

นักวิเคราะห์หลายคน กล่าวว่า ผลสำรวจตังกังประจำไตรมาสนี้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานข้างต้นแล้ว โดยพิจารณาจากรายงานของบีโอเจซึ่งระบุว่า ความเชื่อมั่นของพวกอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ได้กระโจนขึ้นจาก -52 ในเดือนมิถุนายน ไปอยู่ที่ระดับ +13 ในเดือนกันยายน พร้อมๆ กับที่ผลผลิตรถยนต์ค่อยๆ ขยายตัวเพิ่มจำนวนกลับไปสู่ระดับก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงหลายบริษัทมีการจ้างแรงงานชั่วคราวรวมหลายพันตำแหน่ง

นอกจากนี้นักวิเคราะห์บางคนยังมองด้วยว่า ผลการสำรวจคราวนี้จะทำให้แบงก์ชาติสามารถหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น หลังจากถูกหลายฝ่ายกดดันว่าอาจต้องกำหนดนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายลงอีกในการประชุมคณะผู้บริหารในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์เตือนว่า ถึงแม้ว่าผลผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5 เดือนติดต่อกัน ทว่าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก็ยังคงเผชิญกับ “ลมต้าน” อยู่ โดยไอซานาอิ ชี้ว่า การแกว่งตัวของดัชนีความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับหลังจากที่ลดลงฮวบฮาบไปก่อนหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น