เอเอฟพี - ปาเลสไตน์มุ่งมั่นที่จะยื่นหนังสือสมัครเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการในวันนี้ (23) โดยยึดหลักเขตแดนก่อนสูญเสียดินแดนให้กับอิสราเอลใน “สงครามหกวัน” ปี 1967
ยูเอ็น มอบสถานภาพ “องค์กรสังเกตการณ์” (observer entity) ให้กับปาเลสไตน์ ตั้งแต่ปี 1974 อย่างไรก็ตาม หากคำร้องขอเป็น “สมาชิกโดยสมบูรณ์” ถูกขัดขวางในคณะมนตรีความมั่นคง ปาเลสไตน์ก็ระบุว่า จะเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ให้อนุมัติการยกระดับสถานภาพจากองค์กรสังเกตการณ์เป็น “รัฐสังเกตการณ์” (observer state) ที่ไม่ใช่สมาชิก
รายงานชิ้นนี้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างสถานภาพ องค์กรสังเกตการณ์, รัฐสังเกตการณ์ และสมาชิกภาพเต็ม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของปาเลสไตน์
**ประวัติศาสตร์**
องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) ได้รับอนุมัติสถานภาพองค์กรผู้สังเกตการณ์จากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 1974 มติดังกล่าวระบุว่า องค์การพีแอลโอจะได้รับเชิญเข้า “ร่วมในการประชุมและพันธกิจต่างๆ ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ”
ต่อมา ปี 1988 องค์การสหประชาชาติใช้คำนิยามใหม่ ว่า “ปาเลสไตน์” แทนคำว่าองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์
**สถานภาพผู้สังเกตการณ์**
องค์การสหประชาชาติมอบสถานภาพผู้สังเกตการณ์ให้องค์การต่างๆ ไม่เพียงแต่รัฐเท่านั้น แต่รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เช่น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หรือองค์การระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป (อียู)
**องค์กรสังเกตการณ์**
ปัจจุบัน ปาเลสไตน์มีสถานภาพเป็นองค์กรผู้สังเกตการณ์ในยูเอ็น
มติฉบับปี 1998 สมัชชาใหญ่ได้กำหนดสิทธิ 8 ประการ สำหรับปาเลสไตน์ โดยใจความสำคัญระบุว่า “ปาเลสไตน์มีสิทธิ์เข้าร่วมการอภิปรายของสมัชชาใหญ่” ซึ่งรวมถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากปัญหาตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม ปาเลสไตน์ไม่มีสิทธิ์โหวตสนับสนุนหรือคัดค้านมติใดๆ ทั้งสิ้น
**รัฐสังเกตการณ์**
รัฐเดียวที่ไม่ใช่สมาชิกยูเอ็น แต่มีสถานภาพสังเกตการณ์ คือ นครรัฐวาติกัน สิทธิ์ของวาติกันไม่ได้มีอำนาจแตกต่างจากสถานะองค์กรสังเกตการณ์ของปาเลสไตน์มากนัก แต่ปัจจัยที่สำคัญ คือ วาติกันสามารถติดต่อกับรัฐสมาชิกหรือองค์การใดๆ ด้วยหนังสืออย่างเป็นทาการ
นอกจากนี้ สถานภาพรัฐสังเกตการณ์จะทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของหน่วยงานต่างๆ ภายในยูเอ็น เช่น องค์การอนามัยโลก, กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
อย่างไรก็ตาม รัฐสังเกตการณ์ก็ไม่มีสิทธิ์ในการลงมติใดๆ เช่นกัน
**สมาชิกภาพโดยสมบูรณ์**
เป้าหมายสูงสุดของปาเลสไตน์ คือ การเข้าเป็นสมาชิกของยูเอ็น ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆ เหมือนกับรัฐสมาชิกอื่นๆ เช่น การสนับสนุน, โหวตลงมติในสมัชชาใหญ่ และสิทธิ์การส่งตัวแทนลงชิงตำแหน่งต่างๆ ในยูเอ็น
ทั้งนี้ การเป็นสมาชิกภาพเต็มในยูเอ็น ปาเลสไตน์ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 9 จาก 15 รัฐสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง โดยไม่มีชาติใดใช้อำนาจยับยั้ง (วีโต้) ซึ่งประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ จะยื่นหนังสือถึงบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็น เวลา 11.35 น.(ตรงกับ 22.35 น.ตามเวลาประเทศไทย) วันนี้ หากยูเอ็นรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิก เสมือนปาเลสไตน์ก็ได้รับการยอมรับความชอบธรรมบนเวทีโลก