เอเอฟพี/เอเจนซี - พายุไต้ฝุ่น “โรคี” ที่มีกำลังรุนแรง พัดกระหน่ำเข้าสู่ญี่ปุ่นเมื่อวันพุธ (21) ทำให้พื้นที่กรุงโตเกียวเผชิญกับฝนตกหนัก การขนส่งสาธารณะติดขัดหยุดชะงัก และมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 5 คน ตลอดจนทำให้บริษัทรถยนต์หลายแห่งต้องประกาศปิดโรงงาน นอกจากนั้นพายุลูกนี้ยังกำลังบ่ายหน้าไปในทิศทางของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ โดยที่คนงานของโรงไฟฟ้าซึ่งยังไม่ทันฟื้นตัวดีจาก “วิกฤตนิวเคลียร์” แห่งนี้ กำลังพยายามทำงานแข่งกับเวลา เพื่อปกป้องรักษาอาคารและเตาปฏิกรณ์
ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น “โรคี” ซึ่งเป็นพายุใหญ่ลูกที่ 2 ที่ถล่มใส่แดนอาทิตย์อุทัยในเดือนนี้ กำลังสั่งสมความเร็วลมจนกระทั่งถึงระดับ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำให้เกิดฝนเทกระหน่ำแรงกว่า 40 เซ็นติเมตร ในส่วนต่างๆ ทั้งทางภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
เมื่อเวลา 19.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 17.00 น.เวลาเมืองไทย) ไต้ฝุ่นลูกนี้มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 63 กิโลเมตร โดยที่บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สู่อาณาบริเวณที่ประสบความเสียหายอย่างร้ายแรงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม อีกทั้งยังทำให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เกิดการหลอมละลาย กลายเป็น “วิกฤตนิวเคลียร์” เขย่าโลก
เนื่องจากความวิตกว่า นอกจากกระแสลมอันรุนแรงของ “โรคี” และคลื่นทะเลที่ซัดสาดเข้าหาฝั่ง มันยังจะพาฝนมาตกอย่างมากมายและรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มตามมา ทางการญี่ปุ่นจึงได้เตือนภัยเบื้องต้นให้ประชาชนประมาณ 1 ล้านคนอพยพออกจากบ้านเรือนไปพำนักยังที่ปลอดภัย
นอกจากนั้นยังมีการสั่งยกเลิกเที่ยวบินจำนวนหลายร้อยเที่ยว เรือเฟอร์รีและรถไฟต่างระงับการให้บริการ และถนนหลายสายถูกปิดไม่ให้ใช้งาน
ทางด้าน นาโอกิ สึโนดะ ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ แถลงว่า ทางบริษัทกำลังใช้มาตรการที่เป็นไปได้ทุกๆ อย่างเพื่อต่อสู้กับไต้ฝุ่นลูกนี้ “เราได้ผูกตรึงพวกสายไฟฟ้าและท่อสูบน้ำให้แน่นหนา ขณะเดียวกันก็ผูกตรึงพวกเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่ว่าถ้าหากเผชิญกับลมพายุรุนแรง วัสดุกัมมันตภาพรังสีจะได้ไม่แพร่กระจายออกไป
เขาบอกด้วยว่า พวกคนงานได้นำเอาผ้าใบกันน้ำมากางตามจุดต่างๆ ภายในอาคารของโรงไฟฟ้า ที่ฝนอาจจะสาดเข้าไปได้
ขณะที่ จุนอิชิ มัตสึโมโตะ เจ้าหน้าที่ของบริษัทอีกคนหนึ่ง บอกว่าเวลานี้ “โรคี” ยังไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้แก่โรงไฟฟ้า โดยเรื่องใหญ่ที่เป็นห่วงกันมากที่สุดก็คือ ระดับน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ต่างๆ จะเพิ่มสูงขึ้นมา
อาคารเหล่านี้ของโรงไฟฟ้ายังคงเต็มไปด้วยน้ำปริมาณมหาศาล โดยเป็นน้ำที่ถูกสูบเข้ามาเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ เมื่อตอนที่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์
“เราคาดหมายว่าจะสามารถรับมือกับน้ำที่อาจจะท่วมสูงขึ้นมาจากไต้ฝุ่น แม้กระทั่งว่าเกิดกรณีที่ระดับน้ำสูงขึ้นมาอย่างกระทันหันก็ตามที” มัตสึโมโตะกล่าว
ทางด้านบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้ประกาศปิดโรงงานรวม 11 แห่งจากทั้งหมดที่มีอยู่ 15 แห่ง เนื่องจากอยู่ในเส้นทางที่ไต้ฝุ่นอาจพัดผ่าน แต่คาดว่าน่าจะเปิดทำงานได้ใหม่ในวันพฤหัสบดี (22)
ขณะที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ก็ประกาศหยุดการผลิตในโรงงาน 2 แห่งในช่วงบ่ายวานนี้ ส่วนบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ ได้ปิดโรงงานด้านการบินและเครื่องยนต์ของตนจำนวน 5 แห่งที่อยู่ทางภาคกลางของญี่ปุ่น สืบเนื่องจากภัยไต้ฝุ่นคราวนี้