xs
xsm
sm
md
lg

‘สิงคโปร์’ลงคะแนนเลือก‘เสถียรภาพ’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เมกาวะตี วิจายา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore votes for stability
By Megawati Wijaya
01/09/2011

โทนี ตัน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยได้คะแนนชนะคู่แข่งแบบเฉียดฉิว ชัยชนะของนักการเมืองวัย 71 ปี ผู้มีประสบการณ์ในรัฐสภากว่า 27 ปี อีกทั้งมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพรรครัฐบาลผู้นี้ มีเหตุผลสำคัญอยู่ที่พวกผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่าควรต้องเลือก “เสถียรภาพ” มากกว่า “ความเปลี่ยนแปลง” โดยถึงแม้ภารกิจส่วนใหญ่ของประมุขของประเทศ จะอยู่ในลักษณะพิธีการ แต่ยังสามารถที่จะทำให้เกิด “ความมั่นอกมั่นใจเกี่ยวกับอนาคต” ขึ้นมาได้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

สิงคโปร์ – อดีตรองนายกรัฐมนตรี โทนี ตัน (Tony Tan) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสิงคโปร์ ในการแข่งขันกันอย่างคู่คี่มากระหว่างผู้สมัครจำนวน 4 คนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงแม้เขาจะเข้าป้ายเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ได้คะแนนจากผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเพียงประมาณ 35% เท่านั้น ผู้คนจำนวนมากมองความสนับสนุนเห็นชอบจากประชาชนอันอ่อนแรงเช่นนี้ของ โทนี ตัน ว่าเป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า อำนาจควมคุมการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพรรคกิจประชาชน (People's Action Party ใช้อักษรย่อว่า PAP) ซึ่งเป็นพรรคที่เข้าปกครองสิงคโปร์มาอย่างยาวนานมากนั้น เวลานี้กำลังอ่อนโทรมลงเสียแล้ว โดยที่มีเสียงเรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลงดังอึงคะนึงขึ้นทุกที ขณะที่ภาพรวมทางการเมืองของสิงคโปร์ก็เกิดการแตกแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ

โทนี ตัน มีชัยได้คะแนนเสียง 35.19% ของผู้ที่ไปใช้สิทธิและบัตรไม่เสียจำนวนรวมทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน เขาเฉือนชนะผู้ได้คะแนนเป็นอันดับสอง คือ ตัน เชง บ็อค (Tan Cheng Bock) นายแพทย์ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามายาวนานเช่นกัน เพียงแค่ 7,269 คะแนน หรือหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะเท่ากับ 0.34% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งจึงต้องจัดการนับคะแนนกันใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องจริงๆ

สำหรับผู้ลงชิงชัยคนอื่นๆ ตัน จี เซย์ (Tan Jee Say) ที่ปรึกษาทางด้านการลงทุนผู้เคยเข้าแข่งขันในนามผู้สมัครของฝ่ายค้านในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้คะแนนเสียง 25.04% ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด และ ตัน คิน เหลียน (Tan Kin Lian) อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทประกันภัย เอ็นทียูซี อินคัม (NTUC Income) อยู่ในอันดับสี่ ได้เสียง 4.91% ของผู้ออกเสียงทั้งหมด

โทนี ตัน กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยการเป็นผู้มีชัยในการแข่งขันรับเลือกตั้ง ตามหลัง ออง เตง เชือง (Ong Teng Cheong) ผู้ชนะเลือกตั้งในปี 1993 สำหรับประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้คือ เอส อาร์ นาธาน (S R Nathan) ได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ในการเลือกตั้งที่ไม่มีผู้ใดแข่งขันด้วยเลยทั้งในสมัยปี 1999 และสมัยปี 2005

ในสิงคโปร์นั้น ประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐซึ่งภาระหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นงานทางด้านพิธีการ กิจการต่างๆ ที่ประธานาธิบดีกระทำเกือบทั้งหมดเป็นไปตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี แต่กระนั้นประธานาธิบดีก็มีอำนาจในทางยับยั้งอยู่ระดับหนึ่ง ในเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ของฝ่ายรัฐบาล, การควบคุมตัวและการสอบสวน, ตลอดจนเป็นผู้ลงนามร่วมในการดูแลรักษาทุนสำรอง ประธานาธิบดียังได้รับการเรียกขานว่าเป็น “นักการทูตหมายเลขหนึ่งของสิงคโปร์” เนื่องจากบรรดาเอกอัครราชทูตและข้าหลวงใหญ่ (high commissioner ซึ่งก็คือเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษ ที่ประจำอยู่ในประเทศสมาชิกอีกรายหนึ่ง) ที่มาดำรงตำแหน่งในสิงคโปร์ จะต้องยื่นสารตราตั้งของพวกตนให้แก่ประมุขแห่งรัฐผู้นี้

ปกติแล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสิงคโปร์จะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้รับความสนอกสนใจอะไร โดยที่การเมืองโดยรวมของประเทศนี้ก็ไม่สู้มีอะไรน่าตื่นเต้นอยู่แล้ว ทว่าการหย่อนบัตรลงคะแนนในปีนี้กลับได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากจัดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนพฤษภาคมผ่านพ้นไปเพียง 3 เดือน ในการเลือกตั้งทั่วไปคราวนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่น่าตื่นเต้น กล่าวคือถึงแม้ พรรคกิจประชาชนยังคงชนะได้ครองที่นั่ง 81 จากที่มีทั้งหมด 87 ที่นั่งในรัฐสภา แต่เมื่อดูจากคะแนนเสียงที่ได้รับ ปรากฏว่าพรรคนี้ได้เสียงเพียงแค่ 60.1% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

หลายๆ ฝ่ายมองว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้เป็นเสมือนการลงประชามติเพื่อยืนยันว่าประชาชนยังสนับสนุนรัฐบาลพรรคกิจประชาชนอยู่หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็เป็นการตรวจสอบว่าผู้สนับสนุนระดับแกนหลักของพรรคกิจประชาชนนั้นมีอยู่มากน้อยเพียงใด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ มีสิ่งที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อีกประเด็นหนึ่ง ตรงที่รัฐบาลพรรคกิจประชาชนไม่ได้ออกมาประกาศอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนผู้สมัครคนไหนอีกแล้ว กระนั้นก็ตามที นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง (Lee Hsien Loong) ได้ออกมาพูดเชียร์ โทนี ตัน อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า เป็น “ผู้ที่มีคุณสมบัติอันโดดเด่นยิ่ง” และเป็น “ผู้สมัครที่ดีเยี่ยม” อีกทั้งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า โทนี ตัน คือผู้ลงแข่งขันที่ชนชั้นนำของประเทศต้องการให้เป็นผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะของ โทนี ตัน จึงสามารถถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่พรรคกิจประชาชนไปด้วย

โทนี ตันนั้นปัจจุบันอายุ 71 ปี เขามีประสบการณ์เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามากว่า 27 ปี อีกทั้งได้เคยดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรีมาแล้วหลายด้านหลายกระทวง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความมั่นคงและกลาโหม หรือทางด้านศึกษาธิการและการคลัง เขายังขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของนายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) อีกด้วย

ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลวงในของพรรคกิจประชาชน เขายังได้นั่งเก้าอี้สำคัญอื่นๆ เป็นต้นว่า จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง โทนี ตัน คือกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการของ บรรษัทการลงทุนของรัฐบาลแห่งสิงคโปร์ (Government of Singapore Investment Corp หรือ GIC) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกองทุนหลักของสิงคโปร์ รวมทั้งยังเป็นประธานของรัฐวิสาหกิจ สิงคโปร์ เพรส โฮลดิ้งส์ (Singapore Press Holdings) ลีกวนยู (Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีคนแรกของรัฐที่เป็นเกาะแห่งนี้ เคยพูดอย่างเปิดเผยตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ว่า โทนี ตัน คือตัวเลือกอันดับแรกที่เขาต้องการให้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา ทว่า ตัน ปฏิเสธ ตำแหน่งดังกล่าวจึงมาถึง โก๊ะ จ๊ก ตง ในที่สุด

กระนั้น เส้นทางเดินเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีของโทนี ตัน กลับไม่ได้มีความราบรื่นสะดวกสบายเลย การรณรงค์หาเสียงของเขาต้องประสบกับการถูกตั้งข้อระแวงสงสัยด้านลบสุดๆ ตลอดจนถูกท้าทายประจันหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาคมออนไลน์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกในทางต่อต้านชนชั้นนำ ทันทีที่เขาประกาศการลงสมัครแข่งขัน ก็มีเสียงกล่าวหาอย่างอึงคะนึงขึ้นในโลกออนไลน์เกี่ยวกับบุตรชายของเขาที่ชื่อ แพทริก ตัน (Patrick Tan) ทั้งนี้เนื่องจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่จะเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปีของ แพทริก ตัน ได้รับการอนุโลมให้เลื่อนออกไปเป็นเวลาถึง 12 ปี ในช่วงเวลาที่บิดาของเขานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โทนี ตัน ยังถูกก่อกวนถูกโห่ขับไล่จากผู้ฟังบางส่วน ในขณะที่เขากล่าวคำปราศรัยในวันเปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง

บริดเจ็ต เวลช์ (Bridget Welsh) อาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย สิงคโปร์ แมเนจเมนต์ ยูนิเวอร์ซิตี (Singapore Management University) กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้ว่า “มีผลกระทบจากแรงโน้มที่ต่อเนื่องมาจากการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอย่างแน่นอน” ทั้งนี้ “สำหรับใครสักคนที่มีเกียรติประวัติระดับโทนี ตัน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานหลายแห่งด้วย เราย่อมคาดหมายว่าเขาจะต้องชนะการเลือกตั้งได้อย่างสบายๆ แต่นี่เขาชนะโดยที่ได้คะแนนเหนือคู่แข่งขันเพียงนิดเดียวจริงๆ มันจึงเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนกำลังออกเสียงเพื่อคัดค้านพรรคกิจประชาชนในรูปแบบเก่าของลีกวนยู ซึ่งมุ่งเน้นแต่พวกชนชั้นนำ”

ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม การรณรงค์หาเสียงของพรรคกิจประชาชนต้องเผชิญกับกระแสความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่ไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งยังเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะค่าครองชีพ, การที่มีแรงงานต่างงานไหลทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมากมาย, และการที่ราคาที่อยู่อาศัยตลอดจนค่าเช่าล้วนแต่พุ่งขึ้นลิ่วๆ

ถึงแม้ ตัน เชง บ็อค ผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เข้าป้ายเป็นอันดับสองในคราวนี้ จะมาจากพรรคกิจประชาชนเช่นกัน แต่อาจารย์เวลช์บอกว่า ฐานสนับสนุนของเขานั้นแตกต่างออกไปจากของ โทนี ตัน และเรื่องนี้เองก็มีส่วนทำให้ ตัน เชง บ็อค ได้คะแนนสูงมากเช่นนี้ “ตัน เชง บ็อค มีผู้สนับสนุนเขาที่มาจากประชาชนระดับรากหญ้า และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างกว้างขวางกว่า โทนี ตัน ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าประชาชนพออกพอใจผู้สมัครพรรคกิจประชาชนแบบที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า, มีการติดต่อกับประชาชนมากกว่า, และมีท่าทีปรึกษาหารือกับประชาชนมากกว่า” อาจารย์หญิงผู้นี้ระบุ

เมกาวะตี วิจายา เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ สามารถติดต่อเธอทางอีเมลได้ที่ megawati.wijaya@gmail.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น