เอเอฟพี/บีบีซี - กองกำลังความมั่นคงเยเมนใช้กระสุนจริงและแก๊สน้ำตา ยิงใส่ประชาชนผู้ปักหลักต่อต้านรัฐบาลนับหมื่นคนในกรุงซานา เมื่อวันอาทิตย์ (18) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย และผู้บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 500 ราย นับเป็นการสลายการชุมนุมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายเดือน หลังการประท้วงปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
“คืนนี้มีคนถูกฆ่า 26 คน” ตอเรก นูมาน แพทย์สนามจากจุดเกิดเหตุ ให้ข้อมูลกับเอเอฟพี นายแพทย์รายนี้ประจำการในบริเวณ “จัตุรัสแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Change Square) ศูนย์รวมการขับไล่รัฐบาลกลางเมืองหลวงเยเมน ขณะเดียวกัน มูฮัมเหม็ด อัล-อะบานี แพทย์สนามอีกรายหนึ่ง ระบุว่ามีผู้บาดเจ็บราว 500 ราย
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ากองกำลังความมั่นคงและกลุ่มพลเรือนติดอาวุธระดมยิงใส่ผู้ประท้วงนับหมื่นคนที่กำลังเดินขบวนออกจากจัตุรัสแห่งการเปลี่ยนแปลง มุ่งหน้าไปยังศูนย์กลางกรุงซานา เป็นผลให้เกิดการสูญเสียจำนวนมาก
กองกำลังความมั่นคงได้ตรึงกำลังโดยรอบจัตุรัสแห่งการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้น มีรายงานว่าเกิดการยิงปะทะกันระหว่างทหารสังกัดกองพลน้อยยานเกราะที่ 1 ซึ่งแปรพักตร์จากระบอบรัฐบาล กับกองกำลังผู้จงรักภักดีต่อประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ซึ่งปกครองเยเมนมานานกว่า 33 ปี
ในเวลาต่อมา กระทรวงมหาดไทยเยเมนแถลงกล่าวหาผู้ประท้วงว่า เป็นผู้จุดชนวนความรุนแรงระลอกนี้ ด้วยการทำร้ายทหาร 4 นาย, ขว้างระเบิดเพลิงทำลายหม้อแปลงไฟฟ้า และวางเพลิงเผารถของทางการ
ขณะที่ สภาแห่งชาติองค์กรต่อต้านระบอบเผด็จการ ก็ออกคำแถลงประณามระบอบของประธานาธิบดีซาเลห์ “กรณีการสังหารหมู่ประชาชน” พร้อมทั้งเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเป็นการด่วน “เพื่อยุติอาชญากรรมที่แก๊งตระกูลซาเลห์ก่อขึ้น”
ส่วน คณะกรรมการดำเนินการเพื่อการปฏิวัติยุวชนเยเมน อีกหนึ่งแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล ประกาศยืนยันว่าประชาชนชุมนุมด้วยสันติวิธี พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ชาวเยเมนออกมาชุมนุมทั่วประเทศ “ทั้งกลางวันและกลางคืน” จนกว่าระบอบเผด็จการจะล่มสลาย และวิงวอนทหารในกองกำลังความมั่นคงให้ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งสังหารประชาชน
ปัจจุบัน อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ผู้นำเยเมน กำลังรักษาตัวอยู่ในซาอุดีอาระเบีย หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดเมื่อเดือนมิถุนายน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ซาเลห์ได้มอบอำนาจให้รองประธานาธิบดีอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี เป็นผู้เจรจาการถ่ายโอนอำนาจกับฝ่ายค้าน หวังบรรเทาความโกรธแค้นของประชาชน
ทว่า ฝ่ายค้านเยเมนปฏิเสธการร่วมโต๊ะเจรจา พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีซาเลห์ ผู้ปกครองเยเมนมาตั้งแต่ปี 1978 ยอมลงนามในข้อตกลงหย่าศึกที่มีประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวอาหรับเป็นคนกลาง ซึ่งซาเลห์จะต้องสละอำนาจ แลกกับการที่ตระกูลซาเลห์จะได้รับการนิรโทษกรรม