xs
xsm
sm
md
lg

‘ศตวรรษแห่งอเมริกัน’ต้องพิกลพิการเพราะฝีมือ‘บิน ลาดิน’

เผยแพร่:

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Osama crippled the American century
By Jim Lobe
09/09/2011

กลุ่มอัลกออิดะห์ของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ดูจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากที่ตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะหาทางทำให้มหาอำนาจระดับโลกอย่างอเมริกา ต้องตกอยู่ในสภาพเลือดไหลออกไม่หยุด เวลานี้ชนชั้นนำทางด้านนโยบายการต่างประเทศ (ยกเว้นเพียงบางคนบางกลุ่มอันมีจำนวนน้อย) เชื่อไปในแนวทางเดียวกันหมดแล้วว่า คณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช “แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเกินเลย” ต่อเหตุการณ์การโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (ที่นิยมเขียนย่อๆ ว่า 9/11) โดยที่ได้รับการผลักดันจากกลุ่มผู้มีแนวคิดแบบสายเหยี่ยว ซึ่งได้เข้ายึดครองควบคุมนโยบายการต่างประเทศของบุช ตั้งแต่ก่อนฝุ่นผงที่ปลิวคลุ้งเหนืออาณาบริเวณรายรอบอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จะค่อยคลี่คลายจางหายไปด้วยซ้ำ ทั้งนี้ปรากฏชัดเจนว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกเหยี่ยวเหล่านี้กระทำนั้น เหมือนกับเดินไปตามบทที่อัลกออิดะห์เขียนเอาไว้

วอชิงตัน – ครบรอบ 1 ทศวรรษแล้ว เหตุการณ์โจมตีอันน่าแตกตื่นของพวกเขาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ต่ออาคารแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของนครนิวยอร์ก และอาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ในกรุงวอชิงตัน และถึงแม้ว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำมากอิทธิพลบารมีของพวกเขาจะได้ถูกสังหารปลิดชีพไปไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ แต่กลุ่มอัลกออิดะห์ก็ยังคงดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในสิ่งที่พวกเขาตั้งความหวังเอาไว้ นั้นก็คือการเร่งทวีภาวะการเสื่อมทรุดจากความเป็นมหาอำนาจระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ถ้าหากยังไม่ถึงขนาดทำให้สหรัฐอเมริกาถลำเข้าสู่บริเวณขอบเหวแห่งการล่มสลายได้

ดูเหมือนว่าในหมู่พวกชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศ ต่างมีความเชื่อกันอย่างเป็นฉันทามติแล้ว (โดยที่อาจจะมียกเว้นเพียงบางกลุ่มบางคนจำนวนน้อยเท่านั้น) ว่า คณะรัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช “แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเกินเลย” และอย่างเลวร้ายเป็นอันมากต่อการโจมตีเหล่านี้ รวมทั้งเชื่อกันด้วยว่าการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเกินเลยดังกล่าวนั้นยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจวบจนถึงวันนี้

การแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเกินเลยเช่นว่า ที่สำคัญแล้วเกิดจากแรงผลักดันของกลุ่มนักอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservatives) ที่มีความผูกพันโยงใยกันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนพวกที่มีแนวความคิดแบบสายเหยี่ยวคนอื่นๆ คนเหล่านี้ได้เข้ายึดครองควบคุมนโยบายการต่างประเทศของบุชเอาไว้ตั้งแต่ก่อนฝุ่นผงที่ปลิวคลุ้งเหนืออาณาบริเวณรายรอบอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ณ ย่านโลเวอร์ แมนแฮตตัน ของนครนิวยอร์ก จะค่อยคลี่คลายจางหายไปด้วยซ้ำ พวกเขาวางแผนกำหนดให้นโยบายการต่างประเทศอเมริกัน ก้าวเดินไปตามเส้นทางแห่งความรุนแรง ด้วยความมุ่งหมายที่จะกระชับอำนาจครอบงำของวอชิงตันที่มีอยู่เหนือภูมิภาคมหาตะวันออกกลาง (Greater Middle East) ตลอดจนทำให้ประดาผู้ที่คาดหวังต้องการเป็นมหาอำนาจคู่ปรปักษ์ของสหรัฐฯไม่ว่าจะในระดับโลกหรือในระดับภูมิภาคเกิด “ความตื่นตะลึงและความเกรงขาม” จนกระทั่งสงบปากสงบคำยอมรับ โลก “ที่มีเพียงขั้วเดียว” ("unipolar" world)

“เหยี่ยว” ซึ่งอยู่ภายในคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้น มีผู้นำคนสำคัญคือ รองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์, รัฐมนตรีกลาโหมโดนัลด์ รัมสเฟลด์ ตลอดจนพวกผู้ช่วยและผู้สนับสนุนของพวกเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีแนวความคิดแบบนักอนุรักษนิยมใหม่ หากย้อนเวลาถอยหลังจากตอนนั้นกลับไป 4 ปี เหยี่ยวเหล่านี้ต่างได้เคยเข้าร่วมในองค์การที่มีชื่อว่า “โครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (Project for the New American Century หรือ PNAC) องค์การที่มีโลโก้หัวจดหมายเป็นเรื่องเป็นราวแห่งนี้ ร่วมก่อตั้งขึ้นมาโดยนักคิดคนสำคัญของพวกอนุรักษนิยมใหม่ 2 คน คือ วิลเลียม คริสโทล (William Kristol) และ รอเบิร์ต แคแกน (Robert Kagan) พวกเขาได้เคยเขียนบทความสำคัญเอาไว้เมื่อปี 1996 โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯสงวนรักษา “ฐานะความเป็นเจ้า (ที่ได้มาในยุคหลังสงครามเย็น) เอาไว้ให้ยาวไกลไปในอนาคตให้เนิ่นนานที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้”

ในจดหมายและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่พวกเขาจัดทำออกเผยแพร่ต่อมาเป็นชุดใหญ่ คริสโทล และ แคแกนได้เรียกร้องเรื่อยมาให้สหรัฐฯเพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางการทหาร, ใช้วิธีเปิดการรุกโจมตีก่อน (pre-emptive) เพื่อปราบปรามสยบภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยถ้าหากจำเป็นสหรัฐฯก็ต้องพร้อมใช้ปฏิบัติการทางการทหารแต่เพียงลำพังฝ่ายเดียว, และดำเนินการ “เปลี่ยนระบอบปกครอง” (regime change) ของพวกรัฐอันธพาล (rogue states) ทั้งหลาย โดยเริ่มต้นจากการกำจัดระบอบปกครองซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก

ในช่วงเวลาใกล้ๆ ที่จะเกิดเหตุการณ์ 9/11 นั้น ความคิดของ PNAC ที่ว่า วอชิงตันสามารถที่จะขยายฐานะ “ความเป็นเจ้าโลกที่เปี่ยมด้วยความเมตตาปรานี” (benevolent global hegemony) ของตนให้ยาวนานออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ใช่สิ่งที่ดูเหลือเชื่อขาดเหตุขาดผล เพราะด้วยการเป็นเจ้าของเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนมากกว่า 30% , มีฐานะการคลังอันแข็งแกร่งที่สุดในชั่ว 1 รุ่นอายุคน, และมีงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมสูงกว่าของอีก 20 ประเทศทรงอำนาจทางทหารในลำดับถัดๆ ไปของโลกรวมกัน เหล่านี้ทำให้วอชิงตันดูประหนึ่งไร้เทียมทานจริงๆ ยิ่งกว่านั้นในอีกไม่ช้าไม่นานต่อมา ความเข้าใจเช่นนี้ยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มพูนขึ้นอีก ทั้งจากการที่ประชาชนภายในประเทศแสดงออกซึ่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายหลังเหตุโจมตี 9/11 และทั้งจากอัตราความเร็วตลอดจนความง่ายดาย (เมื่อดูกันอย่างผิวเผิน) ของการที่วอชิงตันสามารถชี้นำประสานงานกับกองกำลังฝ่ายอื่นๆ จนยังความปราชัยให้แก่พวกตอลิบานในอัฟกานิสกานในอีกไม่กี่เดือนถัดมาของปี 2001 นั้นเอง

พอล เคนเนดี (Paul Kennedy) นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล เป็นบุคคลระดับแนวหน้าของสำนักคิด “เสื่อมถอย” (declinist) ที่เคยเป็นที่นิยมกันไม่น้อยในช่วง 15 ปีก่อนหน้านั้น โดยเป็นพวกที่มองว่าอำนาจของสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยแล้ว ทว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนสหัสวรรษ เคนเนดีกลับต้องออกมาอุทานด้วยความตื่นเต้นว่า “ผมย้อนกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์โลก และไม่ได้พบเห็นอะไรที่เหมือนอย่างนี้เลย” เมื่อเขาพูดถึงฐานะครอบงำโลกของวอชิงตัน ทั้งนี้เขาเปรียบเทียบว่าสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นมีฐานะเสมือนกับจักรวรรดิอังกฤษในยุคที่รุ่งเรืองเต็มที่ทีเดียว

พวกที่ร่วมก๊วนอยู่ใน PNAC ก็มีความรู้สึกประทับจิตประทับใจทำนองเดียวกัน “เวลานี้ผู้คนกำลังกล้าที่จะก้าวออกมาจากลิ้นชักตู้ที่เคยแอบหลบซ่อนแล้ว เมื่อพูดกันถึงคำว่า ‘จักรวรรดิ’” ชาร์ลส์ เคราธามเมอร์ (Charles Krauthammer) คอลัมนิสต์หัวอนุรักษนิยมใหม่ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เขียนเอาไว้เช่นนี้ด้วยความปลาบปลื้มยินดี เขาเป็นคนโปรดคนหนึ่งทีเดียวของเชนีย์ และเป็นผู้ป่าวร้องสนับสนุนมานานแล้วในแนวความคิดที่ว่า โลกควรต้องมี “ขั้วเดียว” ซึ่งก็คือมีแต่สหรัฐฯเท่านั้นที่ควรเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียวของโลก “ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ไม่มีประเทศใดอีกแล้วที่จะมีฐานะครอบงำทั้งในทางวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, และการทหาร (เฉกเช่นสหรัฐอเมริกา) เมื่อพิจารณาดูในประวัติศาสตร์ของโลกนับตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมันเป็นต้นมา” เขาประกาศ

เมื่อมีความลิงโลด (หรือความอหังการ) ถึงขนาดนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จะกลายเป็นเชื้อเพลิงลุกโหมไปสู่การเรียกร้องของ PNAC ในขั้นตอนถัดไป (การเรียกร้องนี้ได้ถูกระบุบ่งบอกออกมาเป็นครั้งแรกเริ่ม ในจดหมายเปิดผนึกถึงบุช ที่กลุ่มนี้นำออกมาเผยแพร่ภายหลัง 9/11 เพียง 9 วัน) ทั้งนี้พวกเขาบอกว่า การรณรงค์ต่อสู้ที่เมื่อถึงขณะนั้นได้ถูกเรียกว่าเป็น “สงครามระดับโลกเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย” (global war on terror) แล้วนั้น สิ่งที่คู่ควรถือเป็นชัยชนะของสงครามนี้ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในอิรัก

“ถ้าหากล้มเหลวไม่เข้าไปแบกรับและดำเนินความพยายามดังกล่าว ก็จะกลายเป็นส่วนประกอบแห่งความปราชัยในสงครามของการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ โดยที่เป็นความพ่ายแพ้กันตั้งแต่ต้นมือและบางทีอาจจะเป็นความพ่ายแพ้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วย” PNAC กล่าวเอาไว้เช่นนี้ในการเรียกร้องของตน กลุ่มนี้เสนอความคิดเห็นด้วยว่า วอชิงตันยังจะต้องเพิ่มรายชื่อประเทศที่ต้องถือเป็นเป้าหมายเข้าเล่นงาน ให้ครอบคลุมถึงรัฐต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกรัฐที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล) ซึ่งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายทั้งหลาย ตลอดจนพวกกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้เองด้วย

ดังนั้น แทนที่จะมุ่งโฟกัสไปที่การจับกุมล่าตัวบิน ลาดิน และพวกผู้นำอัลกออิดะห์คนอื่นๆ ตลอดจนจัดหาความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงและทางด้านวัตถุต่างๆ อันจำเป็นแก่การสร้างความสงบและเริ่มต้นการฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถานขึ้นมาใหม่ บุชก็กลับหันเหความสนใจของเขา (และหันเหความมุ่งมั่นใสใจของฝ่ายทหาร ตลอดจนทรัพยากรด้านการข่าวกรองของสหรัฐฯ) ไปสู่การเตรียมตัวเพื่อการทำสงครามรุกรานอิรัก

การตัดสินใจเช่นนั้น ในเวลานี้กำลังถูกทั่วโลก (อาจจะมียกเว้นบางกลุ่มบางคน ก็ดังเช่น เชนีย์ ตลอดจนพวกดื้อรั้นที่ให้การสนับสนุน PNAC ของเขาเท่านั้น) มองว่า น่าจะเป็นการตัดสินใจด้านนโยบายการต่างประเทศโดยประธานาธิบดีอเมริกัน ครั้งที่สร้างความวิบัติหายนะมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาทีเดียว ถ้าหากยังไม่ถึงขนาดร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

การตัดสินใจดังกล่าวของบุช ไม่เพียงส่งผลกลายเป็นการปูพื้นฐานอย่างทรงประสิทธิภาพซึ่งลงท้ายแล้วก็ทำให้พวกตอลิบานสามารถกลับคืนเข้ามามีอำนาจอิทธิพลในอัฟกานิสถานอีกครั้ง (โดยที่ปัจจุบันการกลับมาของตอลิบานกำลังทำให้สหรัฐฯต้องมีค่าใช้จ่ายราวๆ 10,000 ล้านดอลลาร์อเมริกันต่อเดือน) แต่มันยังทำลายความสนับสนุนและความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากนานาชาติ ซึ่งวอชิงตันเคยได้รับอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในระยะเวลาสั้นๆ ภายหลังการโจมตี 9/11 ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนน่าปวดร้าวยิ่ง จากการที่บุชประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำให้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม 2003 สนับสนุนการเข้ารุกรานอิรักของเขาได้ นอกจากนั้น การตัดสินใจเช่นนี้ของบุชยังช่วยชักนำทำให้ชาวมุสลิมหลายสิบล้านคนทั่วโลกรู้สึกว่า สหรัฐฯกำลังทำสงครามต่อต้านศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ตามผลของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสิบสำนัก

แท้ที่จริงแล้ว ด้วยการบุกเข้ารุกรานอิรัก สหรัฐฯก็ได้ตกลงไปในกับดักที่วางเอาไว้โดย บิน ลาดิน อย่าลืมว่าบิน ลาดินนั้นมีความมั่นอกมั่นใจว่า การที่มอสโกยกกองทัพบุกเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานอยู่เป็นระยะเวลาราวสิบปี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำให้สหภาพโซเวียตประสบกับการล่มสลายลงไปในที่สุด และเป็นที่ชัดเจนว่าเขาเชื่อว่าสหรัฐฯก็มีความอ่อนไหวอยู่มากที่จะตกเข้าสู่ภาวะแห่งการใช้กำลังเกินตัวในทำนองเดียวกัน

“พวกเราได้ต่อสู้เคียงข้างบรรดานักรบมุญะฮิดีน ในการทำให้รัสเซียต้องหลั่งเลือดอยู่เป็นเวลา 10 ปี จวบจนกระทั่งพวกเขาประสบกับการล้มละลาย และถูกบังคับให้ต้องถอนตัวออกไปด้วยความพ่ายแพ้ (จากอัฟกานิสถาน)” บิน ลาดิน กล่าวเอาไว้ในเช่นนี้ในวิดีโอเทปเมื่อปี 2004 ในครั้งที่เขาพรรณนาถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า เป็น “สงครามแห่งความถดถอย” (war of attrition)

“พวกเรากำลังใช้นโยบายเดียวกันนี้ในการทำให้อเมริกาหลั่งเลือดจนกระทั่งถึงจุดที่ต้องประสบภาวะล้มละลาย” เขากล่าวต่อ “ทั้งหมดที่พวกเราจะต้องทำก็คือการส่งนักรบมุญะฮิดีนสัก 2 คน ไปยังจุดที่ไกลที่สุดทางด้านตะวันออก เพื่อให้ไปปักธงชูผ้าสักชิ้นหนึ่งซึ่งเขียนคำว่า ‘อัลกออิดะห์’ เอาไว้ การทำเช่นนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้พวกนายพลวิ่งเลิ่กลั่กไปตรงนั้น และทำให้อเมริกาต้องประสบความสูญเสียทั้งในด้านผู้คน, เศรษฐกิจ, และการเมือง โดยที่พวกเขาไม่ได้ประสบสัมฤทธิ์ผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกเหนือจากผลประโยชน์บางประการสำหรับบริษัทเอกชนของพวกเขาเท่านั้น”

ในช่วงเวลาที่บิน ลาดิน บันทึกเทปตั้งข้อสังเกตเหล่านี้นั้น กองทหารสหรัฐฯในอิรักก็กำลังทำการสู้รบกับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังปฏิบัติการทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความไม่สงบดังกล่าวนี้เอง ได้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การที่กองทหารสหรัฐฯกระทำการล่วงละเมิดนักโทษชาวอิรักที่คุกอบู กรออิบ (Abu Ghraib) ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ภาพลักษณ์ความมีศีลธรรมของวอชิงตันที่ก็อยู่ในสภาพขาดๆ วิ่นๆ อยู่ก่อนแล้ว ยิ่งกว่านั้นมันยังเป็นการผลักอิรักให้ขยับเฉียดใกล้ปากขอบเหวของสงครามกลางเมือง รวมทั้งยังนำไปสู่สภาพการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯเข้าทำการแทรกแซงอันมีราคาแพงลิ่วในลักษณะที่จมปลักลึกลงไปทุกทีๆ

เป็นความจริงตามที่บิน ลาดินได้ทำนายเอาไว้ วอชิงตันที่ได้แรงกระตุ้นยุยงจากพวกก๊วน PNAC ตลอดจนศิษย์เก่าของกลุ่มนี้ ยังได้เคลื่อนกำลังทหาร (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ส่งอากาศยานไร้คนขับออกไปไล่ยิงขีปนาวุธ) ในแทบจะทุกหนทุกแห่งที่อัลกออิดะห์ หรือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายของอัลกออิดะห์ ทำการปักธงชูผ้า บ่อยครั้งทีเดียวการกระทำเช่นนี้ได้สร้างผลกระทบกระเทือนต่อพวกรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ในฐานะอันอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว ตลอดจนสร้างความโกรธแค้นขึ้นในหมู่ประชากรท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซมาเลีย และ เยเมน

แต่ยังมีชาติอื่นๆ ที่ได้ถูกสหรัฐฯปฏิบัติการในทำนองนี้เช่นกัน แถมยังมีความสำคัญยิ่งกว่าหลายประเทศที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเสียอีก นั่นคือ ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอัฟกานิสถาน ที่บารัค โอบามา ผู้เป็นทายาทของบุช ได้ส่งทหารสหรัฐฯเพิ่มเติมเข้าไปอีกกว่าเท่าตัวจนกระทั่งมีจำนวน 100,000 คน ในระหว่าง 2 ปีแรกที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแม้ว่าเขาจะได้ถอนกำลังทหารจำนวนเท่าๆ กันนี้ออกมาจากอิรักก็ตามที

ค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้กำลังสร้างปัญหากระทบกระเทือนอันหนักหน่วงไปในแทบจะทุกด้านทุกมิติ เม็ดเงินที่ประมาณกันว่าอยู่ในระหว่าง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งวอชิงตันได้จับจ่ายไปในการดำเนิน “สงครามระดับโลกเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย” ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมนั้น คือตัวการสำคัญทีเดียวที่ทำให้วอชิงตันประสบวิกฤตด้านการคลังอันหนักหน่วงอยู่ในเวลานี้ วิกฤตดังกล่าวนี้เองได้เปลี่ยนแปลงแปรโฉมการเมืองของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังนำประเทศนี้ก้าวเข้าสู่ริมขอบแห่งภาวะล้มละลายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

และในขณะที่กองทัพสหรัฐฯยังคงสามารถรักษาตำแหน่งเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเอาไว้ได้จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ทว่าชื่อเสียงเกียรติภูมิในเรื่องความไร้เทียมทานทางการทหารของอเมริกา ก็ได้ถูกแทงทะลุถูกเจาะทะลวงเป็นรูโหว่อย่างไม่อาจแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว จากความสำเร็จของกลุ่มนักรบจรยุทธ์ที่คอยก่อกวนท้าทายและสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่กองทัพสหรัฐฯครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ขาดระยะ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น รอสส์ ดูแธต (Ross Douthat) คอลัมนิสต์หัวอนุรักษนิยมของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สรุปเอาไว้อย่างน่าฟังว่า มันกำลัง “กัดกร่อนฐานะในโลกของอเมริกาให้คลอนแคลนลงไปเรื่อยๆ” สภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่โอบามาดูจะยังไม่สามารถแก้ไขให้กลับดีขึ้นมาได้

ริชาร์ด คลาร์ก (Richard Clarke) ผู้ซึ่งเมื่อตอนที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับท็อปทางด้านความมั่นคงแห่งชาติคนหนึ่งในคณะรัฐบาลบุช ได้เคยเตือนทำเนียบขาวในช่วงหลายๆ เดือนก่อน 9/11 ว่า อัลกออิดะห์กำลังวางแผนเปิดปฏิบัติการครั้งใหญ่ขึ้นในดินแดนของสหรัฐฯ ได้เขียนเอาไว้ในเว็บไซต์ เดอะ เดลี่บีสต์ดอตคอม (the dailybeast.com) เมื่อไม่นานมานี้ว่า “แท้ที่จริงแล้วเรากำลังเล่นไปในทิศทางที่ทำให้พวกปรปักษ์ของเราเป็นฝ่ายได้เปรียบ, กำลังกระทำอย่างตรงเป๊ะในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เรากระทำ, กำลังแสดงการตอบสนองไปในวิถีทางที่พวกเขาได้พยายามหาวิธียั่วยุเพื่อให้เราตอบโต้เช่นนั้น, กำลังสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของเรา และกำลังก่อให้เกิดความแปลกแยกเหินห่างขึ้นในหมู่ประเทศและผู้คนจำนวนมากในตะวันออกกลาง”

ผู้ที่กำลังนำหน้ากระทำการต่างๆ เหล่านี้ ก็คือประดาเหยี่ยวซึ่งความมุ่งมาตรปรารถนาที่พวกเขาชื่นชอบอย่างที่สุด ก็คือ การขยายฐานะความเป็นเจ้าโลกของวอชิงตัน ไม่ใช่การลดทอนฐานะดังกล่าว

จิม โล้บ แห่งสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ http://www.lobelog.com.

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น