เอเอฟพี - ตุรกีประกาศเนรเทศทูตอิสราเอลประจำกรุงอังการา และระงับความร่วมมือทางทหารทั้งหมด หลังจากรายงานของยูเอ็นได้ประณาม กองกำลังอิสราเอล กรณี “การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ” รับมือกับกองเรือบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือฉนวนกาซา ซึ่งเป็นผลให้นักเคลื่อนไหวชาวตุรกีถูกสังหาร 8 ราย เมื่อปี 2010
หลังจากรายงานการไต่สวนกรณีหน่วยคอมมานโดยิวบุกสังหารกลุ่มนักเคลื่อนไหวบนเรือบรรเทาทุกข์ 9 ราย รั่วไหลถึงมือสื่อมวลชน วานนี้ (2) รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีออกมาประกาศทันทีถึงมาตรการประท้วงรัฐยิวตามขั้นตอนต่างๆ ทว่า ก็ยังไม่สามารถทำให้อิสราเอลเอ่ยคำแสดงความเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว ตุรกีสั่งถอนนักการทูตทุกคนออกจากกรุงเทลอาวีฟทันทีที่เกิดเรื่อง และระหว่างแถลงข่าวในกรุงอังการา อาห์เหม็ด ดาวูโตกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ประกาศว่า ความสัมพันธ์กับอิสราเอลจะยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม
“เจ้าหน้าที่อิสราเอลทุกคนตั้งแต่ระดับเลขานุการโทขึ้นไป โดยเฉพาะตัวเอกอัครราชทูต จะถูกส่งกลับประเทศอย่างเร็วที่สุดในวันพุธ (7)” รัฐมนตรีดาวูโตกลูแถลง “ขั้นต่อมา ข้อตกลงทางการทหารทั้งหมดระหว่างตุรกี-อิสราเอลต้องถูกระงับ”
มาตรการเหล่านี้มีขึ้น หลังจากการรั่วไหลของสำเนารายงานจากยูเอ็นซึ่งมีการประณามอิสรเอล กรณี “การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ” และ “ไม่มีเหตุผลรองรับ” ขณะที่หน่วยคอมมานโดยิวบุกขึ้นเรือมาวี มาร์มารา (Mavi Marmara) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2010 จนทำให้นักเคลื่อนไหวเสียชีวิต 9 ราย ซึ่งประกอบด้วยชาวตุรกี 8 ราย และสหรัฐฯ 1 ราย
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวยังได้กล่าวโทษกองเรือบรรเทาทุกข์เช่นกัน กรณีกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการแล่นเรือละเมิดการปิดล้อมน่านน้ำฉนวนกาซา
บันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงระหว่างการเยือนกรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย ในวันนี้ (3) หวังให้ทั้งสองประเทศซึ่งต่างมีความสำคัญต่อภูมิภาค ฟื้นฟูความสัมพันธ์ ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกคำแถลงโต้แย้งว่า “อิสราเอลขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิต แต่จะไม่แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ... อิสราเอลก็เหมือนกับทุกๆ ประเทศ เรามีสิทธิปกป้องตนเอง”
ในอดีต ตุรกีเคยเป็นพันธมิตรในโลกมุสลิมที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ทว่า ความสัมพันธ์เริ่มดำดิ่งลงเหวตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเรเจป ไตยิป เอร์โดอาน แห่งตุรกี ขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2002
สถานการณ์เข้าสู่ขั้นวิกฤต เมื่อนักเคลื่อนไหวตุรกีบนเรือมาวี มาร์มารา ถูกสังหารโดยหน่วยคอมมานโดที่บุกโจมตีจากทั้งทางน้ำ และทางอากาศ แม้ว่าขณะนั้นเรือมาวี มาร์มารา ยังลอยลำอยู่ในน่านน้ำสากลก็ตาม