xs
xsm
sm
md
lg

Focus: นักวิเคราะห์ชี้ “ยุโรป-นาโต” อ่อนแอลงแม้ได้ชัยชนะในลิเบีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์ชี้ แม้ฝรั่งเศสและอังกฤษจะใช้แสนยานุภาพทางทหารช่วยกบฎลิเบียจนได้ชัยชนะ แต่ในความเป็นจริง นาโต และสหภาพยุโรปกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ
เอเอฟพี - ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษต่างแสดงแสนยานุภาพทางทหารในสงครามลิเบียโดยปราศจากการนำของสหรัฐฯ แต่ในทางกลับกันสหภาพยุโรปและนาโตก็กำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ นักวิเคราะห์เผย

แม้จะได้รับคำเตือนไม่ให้เข้าไปเกลือกกลั้วกับความขัดแย้งในลิเบีย ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากสงครามอิรักเท่าใดนัก ทว่าอีก 6 เดือนให้หลังฝรั่งเศสและอังกฤษต่างแก้ข้อครหาให้กับตนเองได้สำเร็จ เมื่อสามารถช่วยให้ฝ่ายกบฎโค่นล้มระบอบ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ลงได้

ปฏิบัติการแทรกแซงทางทหารของ นาโต ซึ่งเป็นไปตามมติองค์การสหประชาชาชาติ “ประสบความสำเร็จได้เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามารับภาระ” เจอราร์ด ลองเกต์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส แถลงสัปดาห์นี้

สงครามลิเบียถือเป็นจุดผกผันที่สำคัญ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้นำในการแทรกแซงทางทหารครั้งใหญ่โดยโลกตะวันตก แต่ปล่อยให้อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามารับหน้าที่แทน

“อังกฤษและฝรั่งเศสสมควรได้รับคำชมเชยไปเต็มๆ แม้จะมีสหรัฐฯพ่วงท้ายมาด้วยก็ตาม” ฟรังซัวส์ เฮย์สบูร์ก จากมูลนิธิเพื่อการวิจัยทางยุทธศาสตร์ในกรุงปารีส กล่าว

อย่างไรก็ดี อันเดร ดูมูลิน จากเครือข่ายสหสาขาวิชาเพื่อการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ โต้แย้งว่า บทบาทของกรุงวอชิงตันในการทิ้งระเบิดและทำลายโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพลิเบีย จะเป็นรองอังกฤษและฝรั่งเศสก็ในทางทฤษฎีเท่านั้น

“ทหารอเมริกันเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธวิธีต่างๆเมื่อถึงคราวจำเป็น” ดูมูลิน ระบุ โดยอ้างถึงผลงานของสหรัฐฯในการนำขีปนาวุธแบบร่อน (cruise missile) มาใช้ทำลายระบบต่อสู้อากาศยานของกัดดาฟี, การลาดตระเวน, สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนระบบเตือนภัยซึ่งใช้ระหว่างการบุกยึดกรุงตริโปลี

แม้ กัดดาฟี จะยังหลบหนีลอยนวลและสามารถยึดครองบางเมืองเอาไว้ได้ แต่สภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ(เอ็นทีซี)ของฝ่ายกบฎก็ประกาศจะจัดการเลือกตั้ง และเริ่มหารือถึงการฟื้นฟูประเทศแล้ว

ขณะที่ชัยชนะยังไม่เด็ดขาดสมบูรณ์ นักวิเคราะห์แย้งว่า สหภาพยุโรป และนาโต เองก็จำเป็นต้องกลับไปแก้ไขผลกระทบจากปฏิบัติการทางทหารในลิเบีย ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกส่วนใหญ่

“สมาชิก นาโต กว่าครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้” เฮย์สบูร์ก กล่าว

เยอรมนีแถลงคัดค้านการแทรกแซงกิจการภายในของลิเบียอย่างเต็มตัว ขณะที่โปแลนด์ก็ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วม แม้จะได้รับการร้องขอหลายครั้งก็ตาม ส่วนตุรกีก็ขอมีบทบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“เห็นได้ชัดว่า นาโต กำลังอ่อนแอลงในเชิงการเมือง” เฮย์สบูร์ก กล่าว

“นาโต เข้าไปควบคุมปฏิบัติการทางทหารในลิเบียตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมก็จริง แต่ไม่เคยมีอำนาจในเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์”

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การที่ยุโรปจะเข้ามาเป็นผู้นำในสงครามใกล้บ้านแทนที่สหรัฐฯซึ่งอยู่ห่างออกไป ไม่สามารถกระทำได้อย่างยั่งยืน

เฮย์สบูร์ก อธิบายว่า งบประมาณด้านกลาโหมที่ลดลงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯต้องจำกัดบทบาทของตนในสงครามลิเบีย จนชาติยุโรปต้องเข้ามารับภาระแทน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ยุโรปจะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนในสงครามอื่นๆ เช่น อัฟกานิสถาน ได้มากนัก นอกจากนี้ยังบีบให้ยุโรปต้องทุ่มงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์บางชนิด ที่เคยพึ่งพาจากกรุงวอชิงตันเป็นหลัก

“เรามีปัญหาในระดับโครงสร้าง เพราะยุโรปก็กำลังเผชิญวิกฤษเศรษฐกิจเช่นกัน พวกเขาไม่มีอำนาจใช้จ่ายมากนัก และมักต้องหันไปพึ่งสหรัฐฯ” ดูมูลิน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น