xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินของ‘จีน’เผชิญกับขีปนาวุธของ‘ไต้หวัน’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คาสน์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

When Hu’s carrier met Ma’s missile
By Jens Kastner
15/08/2011

ไต้หวันตัดสินใจเผยแพร่ข่าวความสำเร็จในการสร้างขีปนาวุธ “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน” ซึ่งสามารถพุ่งทะยานด้วยความเร็วเหนือเสียงของตน ในวันเดียวกับที่จีนก็กำลังนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของพวกเขาออกแล่นในทะเลหลวงเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ เมื่อดูจากภายนอกแล้วความเคลื่อนไหวเหล่านี้เหมือนๆ กับขัดแย้งตรงกันข้ามกับบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างเกาะไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ที่กำลังดำเนินไปอย่างชื่นมื่นยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากขยับใกล้เข้าไปพินิจพิจารณาการเปิดตัวของทั้งสองฝ่าย ก็จะเห็นชัดเจนว่าล้วนแต่อยู่ในอาการยังไม่พรักพร้อมเต็มที่ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ไม่ว่าสำหรับประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน หรือประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน อาวุธของพวกเขาเหล่านี้ต่างก็มุ่งเล็งยิงไปยัง “เป้าหมายภายใน” เสียมากกว่า

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ยุทธศาสตร์กองทัพเรือของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวันนั้น เข้าใจกันว่าเน้นไปที่ให้มีกองเรือรบขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก โดยเป็นเรือที่ใช้เทคโนโลยีสเตลธ์และมีขีปนาวุธเป็นเขี้ยวเล็บ ลักษณะกองกำลังนาวีเช่นนี้น่าจะสามารถสร้างปัญหาปวดหัวหนักทีเดียว ถ้าหากกองทัพเรือ ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (ทปจ.) ยกกำลังมุ่งเข้าสู่ช่องแคบไต้หวัน แนวความคิดเช่นนี้ยังได้รับคำยกย่องชมเชยไม่ใช่น้อยจากนักยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศชื่อก้องหลายๆ คน

อย่างไรก็ดี ขณะที่จีนกำลังนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของตนออกทดสอบแล่นในทะเลหลวงแล้ว ก็กลับมีสัญญาณหลายประการที่ส่อให้เห็นว่า ขีปนาวุธลาดตระเวน เอชเอฟ-3 ที่ว่ากันว่าแต่ละลูกมีราคาประมาณ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่พรักพร้อมสำหรับใช้ในการทำการสู้รบจริง

ตามรายงานข่าวที่ออกมาหลายกระแสระบุว่า ขนาดและน้ำหนักของขีปนาวุธรุ่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการขณะทำการพัฒนาเพื่อให้เป็นเวอร์ชั่นที่ใช้ติดตั้งบนบก และเวอร์ชั่นที่ใช้ยิงในขณะเคลื่อนที่ โดยที่ยังไม่มียานใดๆ เลยที่สามารถใช้ในการบรรทุกตัวเครื่องยิงจรวดรุ่นนี้ได้อย่างเหมาะสม แหล่งข่าวอื่นๆ อีกหลายรายบอกว่า การที่ขีปนาวุธชนิดนี้มีความเร็วสูง กลับกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายให้แก่ชิ้นส่วนประกอบของตัวมันเองจำนวนหนึ่ง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างการทดสอบยิงชุดใหญ่แบบปิดลับ ปรากฏว่า ขีปนาวุธ เอชเอฟ-3 ลูกแล้วลูกเล่าต่างพุ่งเลยเป้าหมาย

รายงานข่าวบอกว่า กองทัพเรือไต้หวันยืนยันแล้วว่า การพลาดเป้าหมายเหล่านี้ไม่ใช่เกิดจากความบกพร่องผิดพลาดของมนุษย์ แต่เป็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากปัญหาการทำงานของตัวขีปนาวุธเอง โดยที่ผลการประเมินเช่นนี้ได้รับความสนับสนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า การทดสอบยิงขีปนาวุธประเภทอื่นๆ ทั้งหมดในการทดลองยิงครั้งเดียวกันนี้ ต่างก็สามารถพุ่งเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้น การที่ในเวลาต่อมาได้มีความพยายามที่จะปกปิดผลทดสอบดังกล่าว ย่อมไม่ช่วยให้ภาพลักษณ์ของ เอชเอฟ-3 ดูดีขึ้นแต่อย่างใด

“ขีปนาวุธ เอชเอฟ-3 เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของไต้หวันที่เน้นเรื่องอสมมาตร (asymmetry ในที่นี้หมายความว่าไต้หวันอาจเร่งพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารที่สำคัญบางอย่างจนก้าวหน้าไปไกล ขณะที่แสนยานุภาพทางทหารด้านอื่นๆ อาจยังคงล้าหลัง -ผู้แปล) และเรื่องความน่าจะเชื่อถือไว้วางใจได้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะป้องปรามไม่ให้จีนเข้าโจมตีไต้หวัน” ยีน ปีแอร์ คาเบสตัน (Jean Pierre Cabestan) ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาปกครองและการระหว่างประเทศศึกษา (Department of Government and International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง แบ็ปติสต์ (Hong Kong Baptist University) กล่าวให้ความเห็นต่อเอเชียไทมส์ออนไลน์ “แต่จากการทดสอบที่ออกมาค่อนข้างน่าผิดหวังของมัน เป็นเสมือนการราดน้ำเย็นหนาวเหน็บเข้าใส่หม่า อิงจิ่ว ผู้ซึ่งมีความมุ่งมาตรปรารถนาอย่างสูงที่จะสาธิตให้เห็นว่า เขากำลังทำงานคืบหน้าไปเป็นอย่างดีในเรื่องการรักษาความมั่นคงของไต้หวัน ภายใต้บริบทที่ว่างบประมาณด้านกลาโหมของไต้หวันยังคงกำลังลดต่ำลงไปเรื่อยๆ”

ทั้งนี้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2008 หม่าให้สัญญาที่จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของไต้หวันขึ้นไปสู่ระดับ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) ของเกาะแห่งหนี้ อย่างไรก็ดี ในปี 2009 เศรษฐกิจไต้หวันเผชิญผลกระทบหนักหน่วงจากวิกฤตของภาคการเงินทั่วโลก หม่าจึงล้มเหลวไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้ ต่อมาในปี 2010 เศรษฐกิจไต้หวันสามารถเติบโตอย่างน่าประทับใจด้วยอัตราสูงกว่า 10% ทว่านั่นก็ทำให้เป็นเรื่องลำบากที่จัดสรรเพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างพรวดพราดจนก้าวตามได้ทัน ในปีนี้ งบประมาณในรายการนี้จะมีสัดส่วนเท่ากับ 2.2% ของจีดีพีเท่านั้น จึงกำลังส่งผลกระทบในทางลบต่อชื่อเสียงของหม่า โดยที่เขากำลังถูกตั้งคำถามว่ามีความจริงจังมากน้อยแค่ไหนในเรื่องความมั่นคงของเกาะแห่งนี้ ตลอดจนมีความกล้าหาญเพียงใดที่จะลุกขึ้นเผชิญหน้ารับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก

ความสงสัยข้องใจดังกล่าวสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน จากการแสดงความคิดเห็นของ ศาสตราจารย์ ไจ้ หมิงเหยียน (Tsai Ming-Yen) ประธานของสถาบันบัณฑิตด้านการเมืองระหว่างประเทศ (Graduate Institute for International Politics) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ชุง ซิง (National Chung Hsing University) ของไต้หวัน ที่บอกว่า เขาเชื่อว่าความพยายามคราวล่าสุดในการโอ่อวดขีปนาวุธ เอชเอฟ-3 ว่าเป็น “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน” นั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะ “รักษาหน้าให้แก่หม่า” ศาสตราจารย์ไจ้กล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ต่อไปว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่ว่าเขาไม่สามารถเพิ่มงบประมาณกลาโหมตามที่ได้ให้สัญญาไว้ กลายเป็นอันตรายคุกคามโอกาสที่เขาจะได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งในปี 2012 หม่าจึงต้องแสดงปฏิกิริยาต่อเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนซึ่งในไต้หวันเองมีความรับรู้ความเข้าใจกันว่าคือภัยคุกคาม ด้วยการที่หม่าต้องเปิดสปอตไลต์ให้ฉายแสงจับจ้องไปที่ขีปนาวุธ เอชเอฟ-3 อีกครั้งหนึ่ง”

ในทำนองเดียวกับหม่า คณะผู้นำของจีนแผ่นดินใหญ่ก็กำลังรู้สึกวิตกเดือดร้อนในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศ และก็เหมือนๆ กับทางฝ่ายไต้หวันอีก ปรากฏว่าปักกิ่งกำลังหันมาใช้วิธีปรับโฟกัสให้ความสนใจของสาธารณชนพุ่งไปยังอาวุธซึ่งดูทรงเกียรติภูมิทว่าแท้ที่จริงแล้วยังสร้างกันไม่เสร็จสมบูรณ์ ศาสตราจารย์ไจ้ชี้ “เนื่องจากปีนี้คือปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) การนำเอาเรือบรรทุกเครื่องบินออกมาทดสอบแล่นในทะเลหลวง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเมืองภายใน เนื่องจากมันจะเป็นการโชว์อวดความสำเร็จแห่งการปกครองของ พคจ.” เขาบอก

ไจ้ยังมีความเห็นว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยเรือบรรทุกเครื่องบินนี้ มาทำให้มรดกทางการเมืองของเขาดูโดดเด่นจับตา ก่อนที่เขาจะอำลาตำแหน่งไปในปี 2012 นอกจากนั้น การออกแล่นในทะเลหลวงของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำให้ พคจ.ดูมีฐานะอันหนักแน่นมั่นคงภายในประเทศ ในช่วงเวลาที่กำลังเกิดความตึงเครียดขึ้นกับหลายๆ ประเทศในย่านทะเลจีนใต้

“เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯกับเกาหลีใต้เปิดการฝึกซ้อมร่วมกันในทะเลเหลือง มาในปีนี้สหรัฐฯก็จัดการฝึกบางอย่างทั้งกับเวียดนามและกับฟิลิปปินส์ ดังนั้น ด้วยการเข็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ออกมา คณะผู้นำจีนก็สามารถแสดงให้สาธารณชนชาวจีนเห็นว่า ตนเองพรักพร้อมยืนหยัดอย่างหนักแน่นในการรักษาสิทธิทางทะเลทั้งหลาย” ศาสตราจารย์ไจ้ระบุ

ทางด้าน ไหล อ้ายชุง (Lai I-chung) กรรมการบริหารคนหนึ่งของ “ไต้หวัน ทิงค์แทงค์” (Taiwan Thinktank) สถาบันวิจัยนโยบายภาคสาธารณะที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงไทเป แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การที่หู จิ่นเทา ปรารถนาที่จะได้รับความเคารพยกย่องจากคนรุ่นต่อๆ ไป จะกลายเป็นปัจจัยผลักดันให้ในอีกไม่ช้าไม่นานนัก จีนจะเปลี่ยนโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินที่ปัจจุบันยังไม่ค่อยสมบูรณ์พร้อมเต็มที่ ให้กลายเป็นโครงการที่สมบูรณ์จริงๆ ขึ้นมา

ไหลบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ต่อไปว่า มีความเป็นไปได้ที่ปักกิ่งจะเปิดตัวเผยโฉมกองเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเบาออกมา ในช่วงเวลาก่อนที่ พคจ.จะจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนระดับชาติครั้งที่ 18 ขึ้นในปีหน้า โดยที่ในที่ประชุมดังกล่าว หู จิ่นเทามีกำหนดการที่จะก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค

สำหรับขีปนาวุธ เอชเอฟ-3 ของไต้หวัน ถึงแม้ไหลยอมรับว่ายังคงมีข้อบกพร่องอยู่หลายจุด แต่เขาก็แก้ต่างให้แก่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของไต้หวันที่ว่า มันเป็นอาวุธ “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน” ไหลบอกว่า “เอชเอฟ-3 เป็นขีปนาวุธลาดตระเวนที่มีความเร็วหนือเสียง เนื่องจากมันเคลื่อนที่ไปในอากาศด้วยอัตราเร็วกว่าเสียง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ขับดันที่แข็งแรงทรงพลังมาก ดังนั้นน้ำหนักหัวรบที่มันจะบรรทุกได้ก็เลยจะต้องลดน้อยลง นอกจากนั้น ยังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตอร์ปิโดต่างหากคืออุปกรณ์ที่ดีกว่าในการจมเรือ”

เขากล่าวต่อไปว่า ขณะที่ขีปนาวุธที่โจมตีจากเบื้องบนลงมาข้างล่าง สามารถที่จะเจาะทะลุเรือจนกลายเป็นรูโหว่ แต่เรือที่มีรูโหว่นั้นก็ยังสามารถแล่นต่อไปได้ ยิ่งในกรณีของ เอชเอฟ-3 ที่บรรทุกน้ำหนักได้น้อยลงด้วยแล้ว ภัยคุกคามของขีปนาวุธชนิดนี้ต่อเรือขนาดใหญ่ๆ จึงยิ่งมีความน่ากลัวลดต่ำลงไปอีก การที่ไหลกล่าวยอมรับตรงๆ เช่นนี้ทำให้การประเมินของเขาดูมีคุณภาพมากขึ้น เพราะมุ่งให้ความสนใจไปที่คุณค่าอันโดดเด่นของ เอชเอฟ-3 อย่างไรก็ตาม ไหลบอกด้วยว่า “ทันทีที่มันพร้อมทะยานเข้าใส่เป้าหมาย ก็ดูเหมือนว่าไม่มีทางเลยที่ข้าศึกจะสามารถสกัดกั้นมันได้ และด้วยการเข้าโจมตีเรือใหญ่ลำหนึ่งแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า (นั่นคือระดมยิง เอชเอฟ-3 เป็นชุดใหญ่) มันก็อาจจะทำงานจมเรือลำนั้นได้สำเร็จ”

ไหลเชื่อว่า ขีปนาวุธ เอชเอฟ-3 ของไต้หวัน มีสมรรถนะพรักพร้อมที่จะทำให้มันกลายเป็นการส่งสัญญาณอย่างสำคัญต่อบรรดาท่านผู้ชมท่านผู้ฟังที่เป็นเป้าหมายของไต้หวัน ในจังหวะเวลาที่จีนก็กำลังเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ “เอชเอฟ-3 เป็นหลักหมายที่แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันสามารถที่จะสร้างขีปนาวุธลาดตระเวนความเร็วเหนือเสียง ความสามารถเช่นนี้ไม่ใช่ของง่ายๆ เลย ดังจะเห็นได้ว่าในโลกมีไม่กี่ชาตินักหรอกที่จะทำเรื่องนี้ได้ เอชเอฟ-3 จึงเป็นการส่งสารออกไปสู่สาธารณชนภายในไต้หวัน และก็ออกไปสู่จีนและสหรัฐฯในเวลาเดียวกันด้วย มันเป็นอาวุธที่จะทำให้สาธารณชนในไต้หวันรู้สึกปลอดภัย, เป็นอาวุธที่จะโชว์ให้จีนรับรู้เกี่ยวกับความสามารถในด้านเทคโนโลยีของไต้หวัน, และก็ทำให้สหรัฐฯรู้ว่าไต้หวันมีเครื่องมือมีหนทางของตัวเองในการรับมือกับภัยคุกคามทางด้านความมั่นคง”

เยนส์ คาสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น