xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศจีนเพิ่ม‘ปากเสียง’ในไอเอ็มเอฟ

เผยแพร่:   โดย: อันโตอาเนตา เบกเกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China advances a grip on IMF
By Antoaneta Becker
28/07/2011

จู หมิน คนจีนคนแรกที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ จากการที่เขาเคยทำนายได้อย่างถูกต้องเป็นบางส่วนเกี่ยวกับวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังใกล้จะเกิดขึ้น และนั่นก็ดูเหมือนเพียงพออยู่แล้วที่จะทำให้เขากลายเป็นผู้ได้รับความเคารพยกย่องจากบรรดาชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่พวกเจ้าหน้าที่ของทางการจีนคาดหมายจาก จู คือการแผ่อิทธิพลบารมีเพื่อต่อสู้ขจัดอคติมุ่งแอนตี้จีน ซึ่งพวกเขามองว่ายังคงแฝงฝังตัวอย่างหนาแน่นไม่น้อยในสถาบันปล่อยเงินกู้ระดับโลกแห่งนี้

ลอนดอน – จู หมิน (Zhu Min) นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คนใหม่ เป็นที่รู้จักยอมรับจากผู้คนจำนวนไม่น้อยในศูนย์กลางการเงินต่างๆ ของโลกตะวันตก จากการที่เขาเคยออกมากล่าวเตือนตั้งแต่ช่วงปี 2007 แล้ว เกี่ยวกับอันตรายของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯที่มีการปล่อยกู้แก่พวกลูกค้ามีปัญหา (ซับไพรม์) เป็นจำนวนมาก ตลอดจนผลพวงอันเลวร้ายที่ปัญหานี้จะมีต่อเศรษฐกิจโลก

“เงินทองมีเกลื่อนกลาดอยู่ทุกหนทุกแห่ง” จู ซึ่งเวลานั้นยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ในธนาคารกลางของจีน และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในระดับระหว่างประเทศนัก กล่าวในระหว่างการแสดงสุนทรพจน์คราวหนึ่ง “คุณสามารถหยิบฉวยเอาสภาพคล่องมาจากตลาดได้ทุกๆ วินาที โดยอ้างว่าจะนำมาใช้ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ดังนั้น เวลานี้ผู้คนจึงกำลังลงทุนในสินทรัพย์ชนิดที่พวกเขาไม่ได้มีไอเดียว่าพวกเขากำลังเสี่ยงกับอะไรอยู่”

ทั้งวอลล์สตรีทในนครนิวยอร์ก และ ซิตี้ ย่านศูนย์กลางการเงินของกรุงลอนดอน ต่างเพิกเฉยไม่สนใจคำเตือนของเขา ซึ่งขัดแย้งตรงกันข้ามกับจุดยืนอย่างเป็นทางการในขณะนั้นของหน่วยงานเฝ้าระวังทางการเงินรายสำคัญที่สุดของโลก อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ได้กลับตาลปัตรหักเลี้ยว 180 องศา ในเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางของบรรดาตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน รวมทั้งแสดงการต้อนรับยอมรับนับถือสติปัญญาของ จู หมิน ด้วยการแต่งตั้งให้เขานั่งเก้าอี้สำคัญในไอเอ็มเอฟ ในตอนแรกคือตำแหน่งที่ปรึกษา และมาถึงตอนนี้ก็ก้าวขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ

จู หมิน เป็นคนจีนคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งระดับสูงถึงขนาดนี้ในสถาบันปล่อยกู้ระดับโลกที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตันแห่งนี้ กระนั้นก็ตาม การได้รับแต่งตั้งของเขา ก็ดำเนินไปตามแนวโน้มการส่งเสริมเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนให้ขึ้นไปสู่ระดับชั้นบนสุดของบรรดาสถาบันแห่งเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods institutions พวกสถาบันทางการเงินระดับโลกที่จัดตั้งขึ้นสืบเนื่องจากการประชุมที่เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฏาคม 1944 สถาบันเหล่านี้ได้แก่ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก -ผู้แปล) ที่ได้ทำหน้าที่คอยดูแลรากฐานแห่งระเบียบทางเศรษฐกิจและการเงินของโลก นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ทั้งนี้ เมื่อปี 2008 ธนาคารโลกได้แต่งตั้งนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีน หลิน อี้ฝู (Lin Yufu) ให้เป็นรองประธานอาวุโสและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ การแต่งตั้งนักเศรษฐศาสตร์จีนทั้ง 2 รายนี้ได้รับการตีความหมายจากทั้งภายในจีนเองและจากทั่วโลกว่า คือการยอมรับความสำคัญของเศรษฐกิจ และอิทธิพลบารมีทางการเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในเวทีระดับโลก

ทางการปักกิ่งนั้นมีความระแวดระวังพยายามเสนอภาพการเลื่อนชั้นทั้งสองรายนี้ ในฐานะที่เป็นชัยชนะสำหรับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยองค์รวม ตลอดจนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปสถาบันระดับโลกเหล่านี้เพื่อทำให้บรรดาชาติกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้น

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ กรรมการผู้จัดการ (คริสทีน) ลาการ์ด แต่งตั้งให้ จู หมิน เป็น รองกรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟ” หง เล่ย (Hong Lei) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในตอนที่มีการแถลงข่าวการแต่งตั้งคราวนี้ “เราเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายภายในไอเอ็มเอฟ กำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างขององค์การแห่งนี้อีกด้วย”

ในการแถลงแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าจีนมุ่งหลีกเลี่ยงไม่พยายามเน้นย้ำให้เห็นว่า จู หมิน เป็นคนจีน ทว่านักวิเคราะห์บางคนยังคงมีความคิดว่า จู น่าจะแสดงบทบาทเป็นผู้เล่นไพ่ให้แก่จีน ในลักษณะอย่างเดียวกันกับที่คนจีนคนอื่นๆ ที่เป็นผู้เล่นระดับระหว่างประเทศทั้งหลายได้เคยกระทำมา นั่นก็คือ การแผ่อิทธิพลบารมีอยู่หลังฉาก

“ตรงกันข้ามกับสิ่งที่บางคนบางฝ่ายเชื่อๆ กัน บทบาทใหญ่ที่สุดที่ จู หมิน สามารถเล่นได้เมื่อเขาอยู่ที่ไอเอ็มเอฟ จะไม่ใช่เรื่องของการต้องเข้าไปมีส่วนร่วมวินิจฉัยตัดสินว่าจะจัดสรรเงินกู้ให้แก่ประเทศใดบ้าง” เหมย ซินหยู (Mei Xinyu) ที่ปรึกษาของกระทรวงพาณิชย์ของจีน ผู้ได้รับความยกย่องนับถือเป็นอย่างสูง ให้ความเห็นเอาไว้เช่นนี้ “ภารกิจของเขาควรจะต้องเป็นการมุ่งผลักดันอย่างปิดลับและอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิธีการคิดและการดำเนินงานของไอเอ็มเอฟ เพื่อที่เราจะได้เห็นการตัดสินใจและการเน้นหนักทางเศรษฐกิจอย่างใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”

ในข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไชน่า ซีเคียวริตีส์ เจอร์นัล (China Securities Journal) เหมยย้ำเตือนให้ทุกๆ คนระลึกว่า จีนเป็นชาติที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นปริมาณสูงที่สุดในโลก และไม่น่าที่จะมีความจำเป็นใดๆ ในเร็ววันนี้ที่จะต้องได้เงินกู้มาช่วยเหลือให้พ้นจากสภาพของการต้องผิดนัดชำระหนี้ เขาชี้ด้วยว่า อันที่จริงจีนได้ดำเนินการเพื่อมุ่งดึงเอาภารกิจบางส่วนของไอเอ็มเอฟในเอเชียออกไปจากสถาบันแห่งนี้เสียด้วยซ้ำ ด้วยการผลักดันให้มีการก่อตั้งกองทุนการเงินแห่งเอเชีย (Asian Monetary Fund) ขึ้นมา

เหมยเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจของทางการจีนจำนวนมากที่มีความเชื่อว่า ถึงแม้จีนกำลังมีคุณูปการสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไอเอ็มเอฟก็ยังคงมีอคติในทางลบต่อแดนมังกรอยู่นั่นเอง

ปักกิ่งรู้สึกรำคาญมากทีเดียว จากการที่ไอเอ็มเอฟออกมาว่ากล่าวตักเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า เงินหยวนของจีนกำลังมีค่าต่ำเกินไป และจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้แข็งค่าเพิ่มขึ้นโดยเร็ว หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความอันยาวเหยียดที่มีเนื้อหาปฏิเสธและตอบโต้ “รายงานการประเมินประจำปี” (Annual Appraisal Report) ว่าด้วยเศรษฐกิจจีน ซึ่งไอเอ็มเอฟนำออกมาเผยแพร่ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

ในรายงานการประเมินประจำปีดังกล่าว ไอเอ็มเอฟได้ดุนหลังปักกิ่งให้หาทางบรรเทาความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อและฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรพย์ของแดนมังกร ด้วยวิธีปรับขึ้นค่าเงินหยวน แต่เหรินหมินรึเป้าตอบโต้ว่า วิกฤตหนี้สินภาคสาธารณะที่กำลังแผ่ระบาดในหมู่ประเทศตะวันตกต่างหาก คือตัวการสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในจีนเพิ่มสูงขึ้น

“ข้อเสนอของไอเอ็มเอฟนั้นไม่ได้ช่วยให้จีนสามารถรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในลักษณะของเงินเฟ้อนำเข้า เพราะตราบใดที่สหรัฐฯและยุโรปยังคงบาดเจ็บจากวิกฤตหนี้สินแล้ว ก็ย่อมจะมี “เงินร้อน” จำนวนมากขึ้นไหลทะลักเข้ามาในประเทศจีน อันนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปริมาณเงินในระบบก็จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง” เหรินหมินรึเป้าระบุ นอกจากนั้นบทความนี้ยังบ่งบอกด้วยว่า ไอเอ็มเอฟยังคงหลับหูหลับตาไม่ยอมมองปัญหาความยากลำบากที่เกิดขึ้นในโลกตะวันต ทว่ากลับมุ่งเน้นมองมาแต่เฉพาะที่ประเทศจีน

นี่คือแบบฉบับของสิ่งที่คนจีนเรียกกันว่า ทัศนะแบบ “ใช้ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งพบเห็นกันได้ทั่วไปในไอเอ็มเอฟ และปักกิ่งก็วาดหวังว่า จู หมิน จะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์เช่นนี้ได้ ถึงแม้ จู อาจจะถูกพวกคนจีนที่เคยติดต่อคบหาหรือร่วมมือประสานงานกับเขา มองว่าเป็นนักเจรจาที่รู้จักแต่พูดจาอย่างนุ่มนิ่ม ทว่าในแวดวงการเงินทั้งของจีนและทั้งระดับระหว่างประเทศ ต่างยอมรับนับถือว่า เขาเป็นคนที่มีความรู้เรื่องเกมการเงินเป็นอย่างดียิ่งคนหนึ่ง

จู ซึ่งปัจจุบันอายุ 59 ปี ได้เคยดำรงตำแหน่งหลากหลายหน้าที่ในธนาคารกลางของจีน และทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ธนาคารโลก ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของไอเอ็มเอฟในปี 2010

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น