เอเจนซี - กระแสความไม่พอใจการทำงานของสภาคองเกรสสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภาต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและถกเถียงอย่างยืดเยื้อ กว่าจะได้ข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้สินซึ่งช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯรอดจากการผิดนัดชำระหนี้มาได้อย่างหวุดหวิด ผลสำรวจโดย นิวยอร์ก ไทม์ส/ ซีบีเอส นิวส์ ซึ่งเผยแพร่วานนี้(4) ระบุ
ชาวอเมริกันร้อยละ 82 ไม่พอใจการทำงานของสภาคองเกรส ซึ่งนับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 34 ปี ขณะที่ผู้พึงพอใจมีอยู่เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ทั้งนี้ ผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วที่พบว่า ผู้ที่ไม่ยอมรับการทำงานของสภามีอยู่ประมาณร้อยละ 77
สภาคองเกรสยอมอนุมัติแผนตัดงบรายจ่าย 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างฉิวเฉียด ก่อนจะถึงวันที่ 2 สิงหาคมซึ่งสหรัฐฯจะต้องผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็ลงนามในกฎหมายเพิ่มเพดานก่อหนี้และตัดงบรายจ่ายของรัฐบาลเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงเส้นตาย
ร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่พอใจวิธีที่ฝ่ายรีพับลิกันใช้เจรจาเพื่อจัดการปัญหาหนี้สิน ขณะที่อีก 60 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่พรรคเดโมแครตใช้หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่ง ระบุว่า ข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ควรกำหนดให้ตัดงบรายจ่ายของรัฐบาล พร้อมทั้งเก็บภาษีเพิ่มด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี้ฝ่ายรีพับลิกันค้านหัวชนฝา ขณะที่อีกร้อยละ 44 คิดว่า ควรลดรายจ่ายของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 82 เชื่อว่า การถกเถียงกันในสภาว่าด้วยข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ เป็นเพียงความพยายามฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าจะคิดหาหนทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ
ผลสำรวจยังพบว่า ชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 50 เชื่อว่า รีพับลิกันยอมอ่อนข้อให้เดโมแครตเกินไป ขณะที่ร้อยละ 34 ระบุว่า ประธานาธิบดี โอบามา และพรรคเดโมแครตก็ไม่ยอมประนีประนอมมากพอ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาของ โอบามา มีสัดส่วนพอๆกัน ส่วนคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีก็ยังคงอยู่ที่ 48 เปอร์เซ็นต์เท่าเดิม
ผลสำรวจดังกล่าวสรุปจากความคิดเห็นของชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 960 คน ซึ่งตอบคำถามทางโทรศัพท์ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีค่าความผิดพลาดบวกลบไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์