เอเอฟพี - การแทรกแซงทางการทหาร ไม่ได้อยู่ในแผนการขององค์การระหว่างประเทศ ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในซีเรีย เพื่อหยุดยั้งการนองเลือดเหมือนสถานการณ์ในลิเบีย โฆษกกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสแถลง วันนี้ (2)
“สถานการณ์ในลิเบียและซีเรียไม่เหมือนกัน” และ “การใช้กำลังทหารแทรกแซงไม่ใช่ทางเลือก” คริสติน ฟาชส์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส แถลงต่อนักข่าว ทว่า ไม่ได้อธิบายรายละเอียดว่า สถานการณ์ของทั้งสองประเทศในโลกอาหรับแตกต่างกันอย่างไร
โฆษกฟาชส์ แถลงถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อตอบคำถามที่ระบุว่าสถานการณ์ในซีเรียจะเกิดขึ้นซ้ำรอยลิเบียหรือไม่ หลังจากกองกำลังนาโตเข้าควบคุมน่านฟ้าลิเบีย และเปิดศึกโจมตีทางอากาศ เพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนลิเบียจากกองกำลังของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี
ทั้งนี้ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และ โปรตุเกส ตั้งความหวังจะผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติประณามผู้นำซีเรียอย่างเป็นทางการ กรณีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม จากการประชุมฉุกเฉินร่วมกันเป็นวันที่ 2 ในวันนี้
แม้ชาติยุโรปเหล่านี้ประสงค์ให้มีการประณามประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ทว่า รัสเซียและจีนแสดงท่าทีว่าจะใช้สิทธิ์วีโต้มติอย่างเป็นทางการใดๆ ต่อตัวประธานาธิบดีอัสซาด
วานนี้ (1 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นกล่าวไว้ว่า นอกเหนือจากรายงานการสูญเสียชีวิตพลเรือนราว 140 รายจากการสลายการชุมนุม เมื่อวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) ยังมีผู้สูญหายแล้วกว่า 3,000 ราย และอีก 12,000 รายถูกจับกุมตัว ตั้งแต่ประชาชนเริ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
ขณะเดียวกัน กลุ่มสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรีย เปิดเผยว่า พลเรือนซีเรียเสียชีวิตแล้วมากกว่า 1,600 ราย ฝ่ายทหารสูญเสีย 369 นาย ตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม