เอเอฟพี - กองกำลังความมั่นคงซีเรียใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทั่วประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตเกือบ 140 ราย เฉพาะในเมืองฮามา ศูนย์กลางการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ราย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผย ขณะเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกประชุมฉุกเฉินว่าด้วยวิกฤตความโหดร้ายครั้งนี้
กลุ่มนักเคลื่อนไหวนิยามเหตุการณ์วานนี้ว่า เป็นหนึ่งในวันที่นองเลือดที่สุด ตั้งแต่ประชาชนเริ่มชุมนุม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เป็นต้นมา แรกเริ่มชาวซีเรียเพียงต้องการเห็นการปฏิรูปประชาธิปไตย แต่ภายหลังลุกลามเป็นความโกรธแค้นและต้องการขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด หลังจากทหารใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม จนมีการสูญเสียนับพันชีวิต
ทันทีที่รายงานความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้ได้รับการตีแผ่ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ พร้อมทั้งบรรดาผู้นำชาติตะวันตก ต่างออกมาประณามการสลายการชุมนุม ซึ่งมีขึ้น 1 วันก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนในวันนี้ (1 ส.ค.) ขณะเดียวกัน เยอรมนีและอิตาลีเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินัดประชุมฉุกเฉิน ซึ่งอาจมีขึ้นในวันนี้
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเปิดเผยว่า วานนี้ ทั่วซีเรียมีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 136 ราย และคาดว่ายอดการสูญเสียอาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
องค์กรสันนิบาตซีเรียเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ผู้ประท้วงในเมืองฮามาเสียชีวิตประมาณ 100 ราย ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซีเรีย รายงานว่า มีการสูญเสียอย่างน้อย 95 ราย ส่วนกลุ่มสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรีย ยืนยันว่า ประชาชนถูกสังหารอย่างน้อย 47 ราย
อับเดล เราะห์มาน แกนนำกลุ่มสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรีย กล่าวว่า กองกำลังรัฐบาลบุกสลายการชุมนุมในเมืองฮามา หลังจากผู้ประท้วงมากกว่า 500,000 คนรวมตัวกัน เมื่อวันศุกร์ (29)
ทั้งนี้ อินเดียรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคง ประจำเดือนสิงหาคม ต่อจากเยอรมนี โดยนักการทูตเยอรมนีประจำยูเอ็นระบุว่า การประชุมฉุกเฉินว่าด้วยกรณีซีเรียอาจมีขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (ตามเวลาท้องถิ่น)
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี โปรตุเกส และสหรัฐฯ พยายามเร่งรัดให้คณะมนตรีความมั่นคงหามาตรการประณามรัฐบาลซีเรีย ทว่า รัสเซีย จีน แอฟริกาใต้ อินเดีย และบราซิล ต่างคัดค้าน พร้อมทั้งแสดงท่าทีว่า อาจใช้สิทธิ์วีโต้มติลงโทษผู้นำซีเรีย ชาติเหล่านี้ล้วนเป็นชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการรุกรานลิเบียของกองกำลังนาโต
ด้าน บันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ก็ประณามการกระทำของประธานาธิบดีอัสซาด ผู้ปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของยูเอ็น เช่นกัน
อนึ่ง เมื่อปี 1982 เมืองฮามาเคยเกิดเหตุนองเลือดครั้งใหญ่มาแล้ว ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 ราย หลังจากกองทัพซีเรียบุกปราบการจลาจลของกลุ่มมุสลิมสุหนี่ ผู้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของอดีตประธานาธิบดีฮาเฟซ อัล อัสซาด บิดาของผู้นำซีเรียคนปัจจุบัน