เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติแถลงวันนี้ (20) ว่ากำลังเกิดทุพภิกขภัยหรือภาวะขาดแคลนอาหารจากภัยธรรมชาติในดินแดนโซมาเลียส่วนที่ถูกกบฏยึดครอง 2 ส่วน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งขั้นสาหัส ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 10 ล้านคนในดินแดนแอฟริกาตะวันออกบริเวณที่เรียกว่า “จะงอยแอฟริกา” (Horn of Africa)
“องค์การสหประชาชาติได้ประกาศวันนี้ว่าเกิดทุพภิกขภัยในดินแดน 2 ส่วนทางตอนใต้ของโซมาเลีย ได้แก่ ตอนใต้ของเขตบากูล (Bakool) และเขตโลเวอร์ ชาเบล (Lower Shabelle)” คำแถลงของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติระบุ
พื้นที่ทั้งสองส่วนอยู่ในการควบคุมของกลุ่มกบฎอัล ชาบับ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์
คำแถลงของยูเอ็นระบุเพิ่มเติมว่า ประชากรโซมาเลียกว่าครึ่งประเทศ ประมาณ 3.7 ล้านคนกำลังเผชิญภาวะวิกฤต ในจำนวนนี้ 2.8 ล้านคนอาศัยอยู่ทางใต้ ขณะที่ความขัดแย้งภายในเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติ
มาร์ก โบว์เด็น ผู้ประสานงานมนุษยธรรมยูเอ็น กล่าวว่า “หากเราไม่ช่วยเหลือตอนนี้เลย ทุพภิกขภัยจะแพร่ไปทั่วทั้ง 8 เขตของโซมาเลียตอนใต้ภายใน 2 เดือน เนื่องจากผลผลิตเหลือน้อยและการติดเชื้อจากโรคระบาด”
ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกันประกอบด้วย พื้นที่บางส่วนของเคนยา ยูกันดา เอธิโอเปีย และจิบูตี
ทั้งนี้ ยูเอ็นได้นิยามความหมายของทุพภิกขภัยไว้ดังนี้ 1.มีครัวเรือนอย่างน้อย 20 เปอร์เซนต์ประสบภาวะขาดแคลนอาหารขั้นร้ายแรงและความสามารถในการแก้ปัญหาถูกจำกัด 2.ประชาชนมากกว่า 30 เปอร์เซนต์ขาดสารอาหารขั้นร้ายแรง และ 3. มีการเสียชีวิตในอัตรา 2 ต่อ 10,000 คน ทุกวัน
เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มอัล ชาบับได้ขับไล่หน่วยงานช่วยเหลือนานาชาติออกจากพื้นที่ โดยกล่าวหาว่าเป็นสายลับชาติตะวันตกและนักรบครูเสดชาวคริสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กบฏกลุ่มนี้ประกาศยอมรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานนานาชาติอีกครั้ง
มาร์ก โบว์เด็น ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโซมาเลียเป็นประเทศที่มีอัตราการขาดสารอาหารสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้บางแห่งมีผู้ขาดสารอาหารมากถึง 50 เปอร์เซนต์
“ถ้าเราไม่เข้าไปแทรกแซงทันที ชาวโซมาเลียหลายแสนคนอาจไม่มีชีวิตรอด” คำแถลงของยูเอ็นทิ้งท้ายไว้เช่นนี้