xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียเรียกร้อง “อาเซียน” ใช้ทวิตเตอร์-เฟซบุ๊กเชื่อมผู้คนทั่วภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 44 (44th ASEAN Ministerial Meeting: AMM) ในวันนี้ (19) โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้แก่ ดร.จิตริยา ปิ่นทอง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ที่ 4 จากซ้ายมือ)
ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย
เอเอฟพี - ประชาคมอาเซียนต้องใช้ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อเชื่อมโยงพลเรือนของภูมิภาคเข้าหากัน ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดยีเซีย แถลงระหว่างพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 44 วันนี้ (19)

ประธานาธิบดียุทโธโยโนแสดงความเห็นส่งเสริมสังคมบล็อกเกอร์แห่งอาเซียน ระหว่างการแถลงต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ เมืองนูซา ดัว (Nusa Dua) เกาะบาหลี อินโดนีเซีย

“เป็นครั้งแรก ช่างต่างกับเมื่อ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เรากำลังเผชิญความเป็นจริงว่ามีการติดต่อสื่อสารระหว่างพลเรือนของเราในเชิงลึกบ่อยครั้งผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม อีเมล ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยิ่งกว่าการติดต่ออย่างเป็นทางการระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ” ผู้นำอินโดนีเซียแถลง

“อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับสอง และทวิตเตอร์มากเป็นอันดับสาม เรารู้เรื่องนี้ดี”

อาเซียนต้องลงมือทำ “มีความคิดริเริ่ม และยอมรับความเห็นที่แตกต่างด้วยการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับประชาชน … การก่อตั้งสังคมบล็อกเกอร์แห่งอาเซียนเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ควรดำเนินรอยตามมากกว่านี้”

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน ประกอบไปด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

รัฐสมาชิกอาเซียนที่มีการพัฒนามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มีการใช้งานสังคมออนไลน์และบล็อกเติบโตในอัตราก้าวกระโดด แม้ว่าการใช้อินเตอร์เน็ตของประชากรยังอยู่ในอัตราต่ำก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน เคยเตือนว่าการคลั่งอินเตอร์เน็ตกำลังทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม เขายังสนับสนุนการปราบปรามเว็บไซต์ลามกอนาจาร และเคยกล่าวโทษอย่างรุนแรงต่อ “ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่คำโกหก” เกี่ยวกับการคอร์รัปชันในอินโดนีเซีย

ด้าน นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนต่างวิพากษ์ยุทโธโยโน กรณีการผ่านกฎหมายฉบับปี 2008 ซึ่งกำหนดบทลงโทษอันเข้มงวดต่อการหมิ่นประมาทผู้อื่นบนโลกออนไลน์ โดยระบุว่ารัฐบาลอินโดนีเซียใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อข่มขู่บรรดานักวิจารณ์และผู้ที่ต้องการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล
กำลังโหลดความคิดเห็น