เอเอฟพี - ฟิลิปปินส์แถลงวันนี้ (4) ว่าจะจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนระยะไกล และอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยอื่นๆ จากสหรัฐฯ เพื่อช่วยเสริมแสนยานุภาพของกองทัพในการปกป้องน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้
วอลแตร์ กัซมิน รัฐมนตรีกลาโหมตากาล็อก แถลงว่าเขาหวังที่จะจัดหายุทโธปกรณ์ชุดแรกให้ได้ภายในปีนี้ แม้ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลที่กำลังมีปัญหาด้านการคลังจะจัดซื้ออาวุธใหม่เสริมเขี้ยวเล็บของกองทัพได้อย่างไร
“เรากำลังมองหายุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ... เช่น เครื่องบินลาดตระเวนระยะไกล และเรือรบ เพื่อใช้ปกป้องดินแดนของเรา” กัซมินแถลงต่อผู้สื่อข่าว
รัฐมนตรีกลาโหมตากาล็อกย้ำว่า ไม่ได้ต้องการยุทโธปกรณ์เก่าเก็บของสหรัฐฯ อย่างที่ฟิลิปปินส์เคยพึ่งพาในอดีต แต่ต้องการเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อรับมือความตึงเครียดกับจีนที่อุบัติขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีการครอบครองน่านน้ำทะเลจีนใต้และหมู่เกาะสแปรตลีย์
สหรัฐฯ ตอบรับว่าจะตรวจสอบหารายการอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฟิลิปปินส์มีความสามารถในการซื้อ และใช้งานได้ กัซมินกล่าว
รัฐมนตรีกัซมินกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ฟิลิปปินส์กำลังมองหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ๆ โดยก่อนหน้านี้ 6 ปี กองทัพตากาล็อกเพิ่งปลดประจำการ เอฟ-5 เครื่องบินขับไล่รุ่นโบราณคร่ำครึ ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม
ทั้งนี้ ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติระอุขึ้นมาอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยฟิลิปปินส์และเวียดนามออกมาตะเบ็งเสียงเตือนจีนถึงท่าทางที่เหิมเกริมมากยิ่งขึ้นในดินแดนแถบนี้
รัฐบาลตากาล็อกยังได้กล่าวหาจีนว่า เคยยิงใส่เรือประมง ข่มขู่เรือสำรวจน้ำมัน และปลูกสิ่งก่อสร้างในดินแดนที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์
น่านน้ำทะเลจีนใต้ยังควบรวมถึงหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีทรัพยากรแร่ธาตุมหาศาล
นอกเหนือจากฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม น่านน้ำทะเลจีนใต้บางส่วนยังมีบรูไน มาเลเซีย และไต้หวันร่วมอ้างสิทธิ์เช่นกัน
แม้ฟิลิปปินส์มีกำลังทหารประจำการอยู่ในพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่กองทัพตากาล็อกเป็นทัพทหารที่อ่อนแอสุดในภูมิภาค โดยไม่มีทั้งเครื่องบินขับไล่ และยังใช้เรือรบของสหรัฐฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการปกป้องดินแดน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ แถลงว่าเต็มใจจัดหายุทโธปกรณ์ให้ฟิลิปปินส์ เพื่อปรับปรุงกองทัพ ท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องหมู่เกาะพิพาท แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมา