xs
xsm
sm
md
lg

“ลาการ์ด” ส่อแววได้รับเลือกเป็น “ผอ.ไอเอ็มเอฟ” คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คริสติน ลาการ์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้สมัครตัวเก็งในการชิงตำแหน่ง ผอ.ไอเอ็มเอฟ คนใหม่
เอเอฟพี - คริสติน ลาการ์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส มีแนวโน้มว่าจะได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คนใหม่ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนอดีต ผอ.ไอเอ็มเอฟ โดมินิก สเตราส์-คาห์น วันนี้(28)

แม้จะมีเสียงประท้วงจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ไม่พอใจการผูกขาดตำแหน่ง ผอ.ไอเอ็มเอฟ ไว้กับชาติยุโรปมานานถึง 65 ปี ทว่าก็เกือบจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า สหรัฐฯซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของไอเอ็มเอฟจะสนับสนุน ลาการ์ด ทำให้โอกาสที่คู่แข่งอย่าง อะกุสติง การ์สเตงส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเม็กซิโก จะช่วงชิงตำแหน่งนี้ไปได้ เหลือน้อยเต็มที

หาก ลาการ์ด ได้ครองตำแหน่ง ผอ.ไอเอ็มเอฟ จะช่วยให้ชาติยุโรปมั่นใจว่าแผนแก้ไขวิกฤตการเงินของกรีซ, โปรตุเกส และไอร์แลนด์ จะไม่สะดุดลงพร้อมกับการพ้นตำแหน่งอย่างกะทันหันของ โดมินิก สเตราส์-คาห์น ซึ่งยื่นจดหมายลาออกไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อสู้คดีทำร้ายทางเพศแม่บ้านโรงแรม โซฟิเท็ล นิวยอร์ก

วานนี้(28) ลาการ์ด เพิ่งได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากจีน ซึ่งทำให้ความหวังของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่จะรวมกลุ่มต่อต้านการผูกขาดของยุโรป ต้องสิ้นสุดลงโดยปริยาย

ตั้งแต่เปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่ง ผอ.ไอเอ็มเอฟ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลาการ์ด วัย 55 ปี ก็กลายเป็นตัวเต็งเหนือคู่แข่งอย่าง การ์สเตงส์ แม้ว่าฝ่ายหลังจะมีประวัติการทำงานที่น่าเชื่อถือก็ตาม

หลายฝ่ายเชื่อว่าสหรัฐฯจะไม่ละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติแต่ดั้งเดิม ที่ให้สหรัฐฯเป็นผู้นำธนาคารโลก ส่วนยุโรปเป็นผู้นำไอเอ็มเอฟ

วานนี้(27) ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯยังคงสงวนท่าที โดยกล่าวชื่นชมกระบวนการคัดสรรของไอเอ็มเอฟว่า “เปิดกว้างและท้าทาย” และมีผู้สมัครที่ “เหมาะสมอย่างยิ่ง” ถึง 2 คน

การจับกุม โดมินิก สเตราส์-คาห์น เมื่อเดือนพฤษภาคมสร้างความตกตะลึงให้แก่แวดวงการเมืองฝรั่งเศส ซึ่งผู้นำชาติยุโรปก็ตอบสนองวิกฤตดังกล่าวด้วยการชู ลาการ์ด ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.ไอเอ็มเอฟ คนต่อไป
ลาการ์ด เคยเป็นผู้นำชาติยุโรปฝ่าวิกฤตการเงินการธนาคารในปี 2008 จนได้รับยกย่องเป็นรัฐมนตรีคลังยอดเยี่ยมที่สุดของยุโรป
แม้ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยตรง ทว่าขุนคลังหญิงผู้นี้ก็ได้รับยกย่องว่าเป็นสตรีที่ฉลาดหลักแหลม จากบทบาทของเธอในการประชุม จี20 และการแก้ไขภาวะหนี้สิ้นของยุโรป

แม้จะมีคุณสมบัติเพียบพร้อมเป็นทุนเดิม ทว่า ลาการ์ด ก็ยังออกเดินทางไปหาเสียงทั่วโลก เพื่อให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดียมั่นใจว่า เธอจะไม่ลำเอียงเข้าข้างชาติยุโรปด้วยกันจนไม่กล้ากำหนดเงื่อนไขที่แข็งกร้าวกับกรีซ, ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตการคลังอย่างรุนแรง

“ดิฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่จะเป็นตัวแทนของสมาชิกทุกประเทศ” ลาการ์ด กล่าวต่อคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ความนิยมในตัว ลาการ์ด ทำให้ผู้สมัครอย่างน้อย 2 รายขอถอนตัวไปก่อนหน้านี้ จึงเหลือเพียง การ์สเตงส์ วัย 53 ปี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศแถบละตินอเมริกาโดยไม่รวมบราซิลและอาร์เจนตินา และเมื่อวันศุกร์(24)ที่ผ่านมาก็ยังได้รับการรับรองอย่างไม่คาดฝันจากออสเตรเลียและแคนาดา ซึ่งโดยปกติจะเห็นพ้องกับสหรัฐฯและยุโรป

อย่างไรก็ตาม การ์สเตงส์ ยอมรับว่าตนยังห่างจาก ลาการ์ด หลายขุม เนื่องจากคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟใช้กฎการตัดสินแบบเสียงข้างมาก ซึ่งยุโรปมีพลังในการออกเสียงถึง 32 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสหรัฐฯมีอยู่ราว 17 เปอร์เซ็นต์

วันศุกร์ที่ผ่านมา (24) กลุ่มเอ็นจีโอประมาณ 30 องค์กรยื่นจดหมายประท้วงความเป็นไปได้ที่ ลาการ์ด จะนั่งเก้าอี้ ผอ.ไอเอ็มเอฟ โดยชี้ถึง “กระบวนการคัดสรรแบบหน้าไหว้หลังหลอก ที่ปราศจากความยุติธรรมและจริยธรรม”
กำลังโหลดความคิดเห็น