เอเอฟพี - ครินติน ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส มีนัดหมายเข้าพบกับบอร์ดบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศในวันพฤหัสบดี (23) นี้ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเหตุผลที่เธอสมควรเป็นผู้นำคนใหม่ของไอเอ็มเอฟ
ลาการ์ดกำลังแข่งขันกับอะกุสติง การ์สเตงส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโก ผู้ที่ได้รับการนิยามในฐานะตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนา ทั้งสองต่างปรารถนาจะสืบทอดตำแหน่งต่อจากโดมินิก สเตราส์-คาห์น อดีตหัวเรือใหญ่ชาวฝรั่งเศส หลังจากเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ขณะกำลังถูกดำเนินคดีคดีอาชญากรรมทางเพศในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ
รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ไว้ว่าได้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ไอเอ็มเอฟ ตั้งแต่วันอังคาร (21) ส่วนวันนี้ (22) เธอมีนัดหารือสองฝ่ายกับบอร์ดไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้หากได้รับเลือก ครินติน ลาการ์ด จะเป็นกรรมการผู้จัดการผู้หญิงคนแรกของกองทุนเงินกู้ระหว่างประเทศแห่งนี้
วันพรุ่งนี้ (23) ลาการ์ดมีกำหนดเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟทั้ง 24 คน ตัวแทนจากทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้พิจารณาว่าใครคือกรรมการผู้จัดการคนต่อไป
ส่วน อะกุสติง การ์สเตงส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเม็กซิกัน วัย 53 ปี ได้เข้าแสดงเหตุผลที่สมควรได้รับเลือกต่อบอร์ดแล้วตั้งแต่วันอังคาร เขาให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมความชอบธรรมของไอเอ็มเอฟ นอกจากนี้ การ์สเตงส์ได้เรียกร้องให้โครงการสร้างบริหารไอเอ็มเอฟเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากประเทศตลาดเกิดใหม่มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยประเทศเหล่านั้นพร้อมจะเพิ่มเงินบริจาคเข้ากองทุนเป็นการตอบแทน
ขณะเดินทางออกจากสำนักงานใหญ่ไอเอ็มเอฟ การ์สเตงส์เปิดเผยว่าพอใจกับการประชุมร่วมกับบอร์ดบริหารเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เลือกเขาเป็นผู้นำ
แม้คริสติน ลาการ์ด ทนายความโดยอาชีพวัย 55 ปี ผู้ผันตัวเข้าสู่ถนนการเมืองฝรั่งเศส จะได้รับการยกให้เป็นตัวเต็ง แต่เธอก็ไม่ได้หยุดเดินทางไปรอบโลก เพื่อแนะนำตัวในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ลาการ์ดได้เดินทางเยือนนานาประเทศ ทั้งบราซิล อินเดีย จีน โปรตุเกส ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์
ทั้งนี้ คำแถลงของไอเอ็มเอฟระบุว่า คณะกรรมการบริหาร 24 คนจะตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่งด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ หากเกิดกรณีที่เสียงไม่เป็นเอกฉันท์ บอร์ดจะตัดสินเลือกผู้นำจากเสียงส่วนใหญ่
บอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟมีกำหนดอภิปรายร่วมกับผู้สมัครทั้งสองคนอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิถุนายน และต้องพิจารณาเลือกตัวผู้นำคนใหม่ภายในวันที่ 30 มิถุนายน
อนึ่ง คณะกรรมการบริหารชุดนี้ประกอบด้วยผู้ชาย 23 คน และผู้หญิง 1 คน โดยกรรมการ 7 คนเป็นตัวแทนจากชาติสมาชิกอียู นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 1946 สหรัฐฯ และยุโรปมีข้อตกลงร่วมกันโดยปริยายว่าผู้นำไอเอ็มเอฟควรมาจากชาติยุโรป ส่วนประธานธนาคารโลกต้องเป็นคนสหรัฐฯ