xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ คนญี่ปุ่น 74% หนุนเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพภายในอาคารบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ
เอเจนซี - โพลของหนังสือพิมพ์อาซาฮีระบุ ชาวญี่ปุ่นเกือบ 3 ใน 4 ต้องการให้ค่อยๆ ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลง เป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ถึงความกังวลต่อความปลอดภัยของพลังงานปรมาณู ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกในรอบ 25 ปี

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ชาวญี่ปุ่นถึง 51% เห็นด้วยกับการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ ที่ขณะนี้ระงับการใช้งานเพื่อดำเนินการตรวจสอบ อีกครั้ง หากเตาปฏิกรณ์เหล่านั้นได้มาตรฐานความปลอดภัยของรัฐบาล ขณะที่มีเพียง 35% ที่คัดค้าน โดยเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยในพื้นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นั้นสูงกว่า

ผลสำรวจดังกล่าวมีขึ้นในขณะเดียวกับการลงประชามติในอิตาลี ซึ่งคาดว่าเกือบ 95% ของประชาชนแดนมะกะโรนีจะคัดค้านการฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาใช้ใหม่ภายในประเทศ ที่มีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหว

3 เดือนหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงของญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินยังคงทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ มีสภาพคงที่ ขณะที่ชาวเมืองหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้า หนีอันตรายจากกัมมันตภาพรังสี

เจ้าหน้าที่กระทรวงการค้าเตือนว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 54 เครื่องในญี่ปุ่นอาจต้องหยุดทำงานไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า หากชุมชนต่างๆ ยังคัดค้านโรงไฟฟ้าปรมาณู เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยอยู่

ทว่า ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความเสียหายต่อเศรษฐกิจหากปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดนั้นสูงเกินไป แม้ประชาชนต่างเป็นกังวลก็ตาม

ก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ กระแสไฟฟ้า 30% ของญี่ปุ่นมาจากพลังงานนิวเคลียร์

นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังของญี่ปุ่น ประกาศจะยกเครื่องกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ และมาตรการความปลอดภัยใหม่ๆ พร้อมสัญญาจะส่งเสริมใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ 20% ภายในปี 2020 ซึ่งมากกว่าระดับปัจจุบัน 2 เท่า ตลอดจนตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง 1 ใน 6 ภายในปี 2030 ด้วย

ทั้งนี้ 65% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามของอาซาฮี ระบุว่า พวกเขาเต็มใจยอมรับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนแหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ต้องการเพียง 19%
กำลังโหลดความคิดเห็น